วันอังคารที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนสำนักงานเลขาธิการลูกเสือแห่งชาติ นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา และนาย Olivier Mathieu ประธานกรรมการบริหารสมาคมลูกเสือแห่งฝรั่งเศส ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ บทบาทของรัฐสภาเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Roles of the Parliament to Ensure Lifelong Learning) โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก พลโท ศุภวิทย์ มุตตามระ ชมรมลูกเสือรัฐสภาไทย และนางวรวิมล รัตนมาลี สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ๓๐ คน จากนานาประเทศ พร้อมด้วยเยาวชนซึ่งเป็นลูกเสือ จากประเทศต่าง ๆ วิทยากรได้อภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและบทบาทของรัฐสภาในการ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งในปัจจุบันแต่ละประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ ๔ ขององค์การสหประชาชาติกิจการลูกเสือนับเป็นกิจกรรม ที่สำคัญประการหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะความรู้และประสบการณ์ ในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนลูกเสือในแต่ละช่วงวัย ควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เพื่อเสริมสร้างความรู้และ พัฒนาการต่อแนวทางการศึกษาของเด็กนักเรียนหรือเยาวชน เพื่อสร้างทักษะภาวะผู้นำและยึดมั่นในหลักจริยธรรม เพื่อให้เติบโตเป็นประชากรที่ดีและมีคุณภาพ โดยได้มีการนำศาสตร์พระราชาในด้านการศึกษาและการส่งเสริม กิจการลูกเสือไทยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ส่งเสริมศาสตร์ด้าน การศึกษา Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการ คิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้กระทำลงไป ประยุกต์ร่วมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการรวมหลักสามประการได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ Active Learning สามารถนำไป ประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษาเรียนรู้ในทุกระดับชั้น จึงถือเป็นกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ นอกจากนี้ นาย Olivier Mathieu ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของฝรั่งเศส ที่มุ่งเน้นการฝึกอบรมและการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาคุณภาพของประชากร โดยการบำเพ็ญประโยชน์จำนวน ๒๐ ชั่วโมงของลูกเสือ จะสามารถโอนย้ายไปเป็นจำนวนหน่วยกิตในการศึกษา หรือจำนวนชั่วโมงในการทำงานได้ ทั้งนี้ คาดว่าการสร้างมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใน สหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๕ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายบนเวที นาย Mohammed Asil ผู้แทนจากประเทศซูดานได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า กิจการลูกเสือของ ซูดานอาจมีความแตกต่างจากของประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย ตนเห็นว่าแนวคิดของประเทศฝรั่งเศส ในการโอนจำนวน ๒๐ ชั่วโมงของการบำเพ็ญประโยชน์ไปใช้ในการศึกษาหรือการทำงานมีความ น่าสนใจมาก ขณะนี้ ซูดานมีเยาวชนเป็นลูกเสือจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ คน และหวังว่าจำนวนลูกเสือของ ประเทศซูดานจะเพิ่มเป็น ๒ ล้านคนภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ตนเห็นว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีแนวทางการดำเนินกิจการ ลูกเสือเป็นของตนเอง
|