ชงรัฐแก้กฎหมายบีโอคิว กระทบรายย่อยออกนอกระบบ
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)
Wednesday, May 17, 2017 03:31
50651 XTHAI XCORP XESTATE XCONSTR XMANUFAC DAS V%PAPERL P%PTD
อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร
ชงรัฐแก้กฎหมายบีโอคิว
>>จากการที่มีประกาศให้ธุรกิจรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค (สคบ.) อ้างถึงสถิติการร้องเรียน
ของผู้บริโภคที่ผ่านมาว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังคงมียอดโดนร้องเรียนสูงในลำดับต้นๆ และปัญหาการว่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยมีผู้บริโภคร้องเรียนเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ประกอบธุรกิจได้จัดทำสัญญาสำเร็จรูป โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เช่น กำหนดงวดการชำระเงินไม่สัมพันธ์กับงวดงาน ใช้วัสดุไม่ตรงกับที่กำหนดในสัญญา ใช้วัสดุไม่มีคุณภาพ ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่ส่งมอบแบบบ้านที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้มีการตรวจสอบงานก่อสร้าง ไม่รับผิดชอบแก้ไขความชำรุดบกพร่อง ก่อสร้างล่าช้าและทิ้งงาน ฯลฯ
ที่ผ่านมา สคบ.ได้มีการช่วยเหลือ ผู้บริโภคโดยดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อยุติข้อพิพาท หรือดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว ก็ปรากฏว่ายังมีแนวโน้มที่ ผู้บริโภคจะมาร้องเรียนต่อ สคบ.เพิ่มขึ้น
สำหรับการประกอบธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัย โดยปกติแล้วไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือสัญญา แต่การประกอบธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยมักมีการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับ ผู้บริโภคและมีการส่งมอบสัญญาให้กับ ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม จึงเห็นควรกำหนดให้การประกอบธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
อย่างไรก็ดี หลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้มากว่า 4 เดือนก็ได้มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านถึงผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลปกครอง ล่าสุดทาง สคบ.ได้ขอขยายระยะเวลาในการส่งรายละเอียดต่อศาลปกครองเป็นครั้งที่ 2 จากเดิมครบที่กำหนดในวันที่ 29 เม.ย. 2560 เป็นวันที่ 28 พ.ค. 2560
ขณะที่สถิติรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคของ สคบ. พบว่า ตัวเลข 3 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-มี.ค. 2560) ที่มีการบังคับใช้กฎหมาย และตัวเลข 3 เดือนสุดท้ายปี 2559 (ต.ค.-ธ.ค. 2559) ไม่ได้แตกต่างกัน โดยอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยยังติดอันดับต้นๆ ของการร้องเรียน โดยอาคารชุดมีการร้องเรียนมากสุด
ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2560 มีผู้บริโภคร้องเรียนรวม 1,701 ราย เป็นเรื่องอสังหาฯ 436 ราย ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เกิดจากอาคารชุด 313 ราย ส่วนว่าจ้างก่อสร้างมีเพียง 21 ราย
ส่วนสถิติการร้องเรียนช่วงเดือน ต.ค-ธ.ค. 2559 มีผู้บริโภคร้องเรียนรวม 1,649 ราย เป็นเรื่องอสังหาฯ 500 ราย ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เกิดจากอาคารชุด 400 ราย ส่วนว่าจ้างก่อสร้างมีเพียง 17 ราย โดยปัญหาข้อร้องเรียนมาจากผู้รับเหมาทิ้งงาน การยกเลิกสัญญา และก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแปลน เป็นต้น
ธีร์ บุญวาสนา กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อยุธยา สร้างบ้าน กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน แต่ทว่ายังมีประเด็นที่อยากให้ทาง สคบ.มีการทบทวน โดยเฉพาะเรื่องของบัญชี แสดงปริมาณวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและราคา หรือที่เรียกว่าบีโอคิว (Bill of Quantities : B.O.Q.) ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในทางปฏิบัติเป็นธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จคือ ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบ การยื่นขออนุญาตก่อสร้าง ไปจนถึงก่อสร้างแล้วเสร็จ
อีกทั้งปัจจุบันการดำเนินธุรกิจได้มีการพัฒนาทั้งในเรื่องของระบบการบริการ รวมไปถึงนวัตกรรมทั้งนี้ก็เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ซึ่งนั่นก็คือต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถระบุในการทำบีโอคิวได้
"ลูกค้าบางรายเข้าใจ แต่ก็มีจำนวน ไม่น้อยที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมราคาแพงกว่า จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไปทำให้มีการ ยกเลิกสัญญาตามมา โดยเมื่อปลายปีที่ ผ่านมาแค่มีกระแสเรื่องนี้ก็มีลูกค้า 2 ราย มูลค่าก่อสร้างรวม 30 ล้านบาท ขอชะลอการเซ็นสัญญาก่อสร้าง โดยให้เหตุผลว่าอยากให้ประกาศมีผลบังคับใช้ก่อน และต้องการให้บริษัทปรับแก้สัญญาให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง อย่างไรก็ดีเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วผู้รับเหมาก็ต้องปรับตัวตาม" ธีร์ กล่าว
สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวออกมาเพื่อป้องกันปรามไม่ให้ผู้ประกอบการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ปัญหาเกิดขึ้นจากว่าจ้างผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปและใช้สัญญาที่ทำขึ้นเองซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าข้างผู้รับเหมาเมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นการทิ้งงานหรือสร้างไม่ตรงตามแปลน เหล่านี้ก็เกิดการร้องเรียนขึ้น
"ตามข้อมูลจะเห็นว่า ตัวเลขที่มีการร้องเรียนผ่านทาง สคบ.ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของจัดสรรมากกว่ารับสร้างบ้าน แต่กลับคุมเฉพาะธุรกิจสร้างบ้านอย่างเดียว ซึ่งก่อนจะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ทางสมาคมได้เข้าชี้แจงถึงปัญหามาแล้วหลายครั้ง" สิทธิพร กล่าว
สำหรับเรื่องบีโอคิว เป็นประเด็นที่ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมต่างๆ มีความกังวลและมีการเรียกร้องให้ทบทวนกันใหม่ เนื่องจากเป็นการเปิดข้อมูลหมดทุกอย่าง ที่ผ่านมาไม่ใช่ผู้บริโภคที่โดนเอาเปรียบเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการเองก็โดนเอาเปรียบเช่นกัน แต่ไม่ค่อยมี การฟ้องร้อง
การแจงบัญชีทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบจากลูกค้าหัวหมอที่มีจองไว้ เมื่อได้บีโอคิวแล้วก็ยกเลิกการทำสัญญาแล้วนำแบบไปให้ผู้รับเหมารายย่อยทำแทน ขณะเดียวกันไม่สามารถเรียกร้องเงินที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อผู้ว่าจ้างมีการยกเลิกสัญญา
บริษัทที่อยู่ในสมาคมจะดำเนินงานแตกต่างกับผู้รับเหมาทั่วไป มีค่าบริหารจัดการรวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยทำงานในลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส คือบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ซึ่ง สคบ.ไม่มองในเรื่องนี้ มองเพียงว่าทำไมถึงแพง
นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงว่าจะ เกิดการเลี่ยงภาษี ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะสามารถควบคุมดูแลผู้ประกอบการได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีไม่ถึง 10% ที่เข้าสู่ระบบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่มูลค่าการสร้างบ้านมีถึง 8 หมื่นล้านถึงแสนล้านบาท ทั้งนี้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาที่จะออกใบรับเงินแทนการออกใบกำกับภาษี ซึ่งจะผลักดันรายย่อยออกนอกระบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ สคบ.ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและมีทางออกให้กับผู้ประกอบการน้ำดีด้วย ทั้งนี้เสนอให้มีการแบ่งประเภทผู้รับเหมาให้ชัดเจน เช่น ผู้รับเหมาที่ให้บริการครบวงจร กับผู้รับเหมาทั่วไป พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขว่าสิ่งใดทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ควรเหมารวมผู้ประกอบการทั้งหมดมาไว้ในกลุ่มเดียว
ปัจจุบันมีผู้รับเหมารายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5 หมื่นราย ขณะที่บริษัทรับ สร้างบ้านมี 200 ราย หากปล่อยเวลาให้ เนิ่นนานออกไปจะเข้าทำนองที่ว่าขว้างงู ไม่พ้นคอ--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์