ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตกขจัดทุกข์ยกเพื่อชาวประชา
Source - มติชน (Th)
Thursday, June 08, 2017 05:50
27701 XTHAI XOTHER XCOMMENT MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD
การร้องเรียน/ร้องทุกข์ของประชาชน ถือเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทราบว่า การบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยและหน่วยงานของรัฐได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ของประชาชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจหลักในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ของประชาชน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะต้องเข้าไป ช่วยเหลือแก้ไข และบรรเทาปัญหาต่างๆ
ตามที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงาน ของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชน ได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอน การปฏิบัติงานและประชาชนได้รับความพึงพอใจ
จังหวัดตากได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากขึ้น ที่ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตาก ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก มีหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน อีกทั้งเป็นหน่วยงานในการ รับเรื่อง-ส่งต่อ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งมีการบูรณาการความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยในทุกๆ วันจะมีตัวแทนจากส่วนราชการต่างๆ อาทิ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดินจังหวัด ทหาร ตำรวจ มาประจำเพื่อคอยให้บริการประชาชน
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยมีเรื่องร้องเรียน/ ร้องทุกข์ รวมทั้งสิ้น 2,311 เรื่อง สามารถยุติเรื่องได้ 2,070 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 241 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 89.57)
ปัญหาความเดือดร้อนที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดตาก อาทิ การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์ และคนไร้สัญชาติ เนื่องด้วยจังหวัดตาก เป็นจังหวัดชายแดน อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยพักอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ม้ง แม้ว มูเซอ และลีซอ ส่วนใหญ่จะมีถิ่นที่อยู่บนภูเขาสูงมาก ทำให้ยังเข้าไม่ถึง การบริการของรัฐ ส่งผลให้เสียสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย ไม่เพียงแต่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์และคนต่างด้าวเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ แต่ยังมีคนไทยพลัดถิ่น ที่ต้องประสบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
ในเรื่องการขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์ และคนไร้สัญชาติผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดตาก มีทั้งสิ้น 33 เรื่อง ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากเป็นหน่วยงานรับเรื่องและ ส่งต่อให้ที่ทำการปกครองอำเภอต่างๆ เป็นหน่วยงานดำเนินการทั้งสิ้น แต่ในส่วนของผลการดำเนินการพิจารณาคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สัญชาติและสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อยจังหวัดตาก ตั้งแต่ 18 กันยายน 2556-13 ธันวาคม 2559 มีจำนวนคำร้องรวมทั้งสิ้น 3,582 ราย ได้สัญชาติไทยแล้วจำนวน 2,938 ราย
ตัวอย่างการช่วยเหลือของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก เรื่องการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร์และคนไร้สัญชาติ แม้เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากโดยตรง แต่เป็นเรื่องที่มีการเผยแพร่ทาง สื่อออนไลน์ ว่าราษฎรในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง ขาดแคลนอาหารและไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560
ถึงแม้จะเป็นวันหยุดราชการ แต่ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากเห็นว่าปัญหาของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ที่ต้องรีบดำเนินการทันที ดังนั้นจึงได้มีการประสานงาน ผ่านทางไลน์ให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ และในวันดังกล่าว นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มอบหมายให้นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอท่าสองยาง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่าสองยาง ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน
ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้นายชูศักดิ์ วนาทัศไนย กำนันตำบลแม่สอง/ศูนย์ดำรงธรรมตำบลแม่สอง ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าครอบครัวผู้ยากไร้รายดังกล่าว อาศัยอยู่ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง พร้อมภรรยา (ไม่มีชื่อสกุล) และบุตร 4 คน ซึ่งบุตร 3 คน ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน ส่วนบุตรคนเล็ก อายุ 4 ปี ไม่มีชื่อ ในทะเบียนบ้านเพราะยังไม่ได้แจ้งเกิด
อำเภอท่าสองยางได้ประสานงานผู้ใหญ่บ้าน ให้นัดครอบครัวของผู้ยากไร้มาทำบัตรประชาชนในวันที่ 20 มีนาคม 2560 และได้ร่วมกับองค์การบริหาร ส่วนตำบลแม่สอง เข้าไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือ หลังจากได้รับแจ้งผลการดำเนินการมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 นายอำเภอท่าสองยาง ได้มอบหมายให้นายพนมพร ตุ้ยกาศ ปลัดอาวุโส ดำเนินการให้ความช่วยเหลือครอบครัว ดังกล่าว โดยทำบัตรประชาชนให้กับทุกคนในครอบครัว ส่วนบุตรคนเล็ก ได้ดำเนินการแจ้งเกิด และเพิ่มชื่อลงใน ทร. 14 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ อำเภอโดยกิ่งกาชาดอำเภอท่าสองยาง ได้มอบเงินสดและสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับครอบครัวดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ยังเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ ด้วยชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบเชิงรุก เช่น กรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของมูลกระบือ มีปลักโคลน ที่มีมูลกระบือไหลลงลำคลองสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียง
เมื่อได้รับเรื่อง ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ได้ร่วมกับปลัดอำเภอเมืองตาก ทหาร สาธารณสุขจังหวัด ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรึม เข้าตรวจสอบ พื้นที่เกิดเหตุ พบว่าบริเวณคอกควายไม่ถูกสุขลักษณะ มูลกระบือกองอยู่ชิดริมตลิ่งลำคลองสาธารณะจำนวนมาก และมีน้ำจากปลักโคลนที่มีมูลกระบือไหลลงคลอง ตลอดเวลา และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข ซึ่งมีข้อกำหนดเงื่อนไขห้ามเลี้ยงกระบือในเขตชุมชน ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญในลักษณะเดียวกันนี้อีก
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก จึงได้ประสานแจ้งข้อมูลให้สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดตากทราบ ต่อมาศาล ได้มีกำหนดนัดคู่ความ ประกอบด้วยผู้ถูกร้อง องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรึม และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในวันที่ 23 มกราคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ได้ทราบจากผู้ร้องว่า ผู้ถูกร้องได้ย้ายกระบือออกไปเลี้ยง ที่อื่นแล้ว และไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่น สามารถใช้ชีวิต ได้อย่างมีความสุข และผู้ร้องได้ขอบคุณศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว
ส่วนการออกหน่วยให้บริการโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้ม ให้ประชาชนนั้น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากมีการออกให้บริการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้คำปรึกษากฎหมาย นอกสถานที่ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเป็นประจำทุกเดือน โดยภายในงานมีการออกหน่วยของ ส่วนราชการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และให้บริการช่วยเหลือในด้านต่างๆ
นอกจากการให้บริการออกหน่วยและช่วยเหลือ ประชาชนแล้ว ยังมีการประชุมเสวนาระหว่าง ส่วนราชการระดับจังหวัด ส่วนราชการระดับอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้ม ให้ประชาชนจังหวัดตากอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศูนย์บริการร่วม ONE STOP SERVICE ของจังหวัดตาก ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก สนับสนุนในด้านพื้นที่ค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ งานรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้คำปรึกษากฎหมาย งานทะเบียนราษฎร์ งานบัตรประจำตัวประชาชน งานทะเบียนสมรส งานประกันสังคมต่อภาษี ต่อทะเบียนรถ เพื่อให้ประชาชนได้รับการอำนวย ความสะดวก และสามารถใช้บริการได้อย่างเบ็ดเสร็จได้ในเร็ววันนี้
--จบ--
--มติชน ฉบับวันที่ 9 มิ.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--