คอลัมน์: สายตรวจระวังภัย: 'สันติบาลเตือนภัย'สกัดอาชญากรรมทุกรูปแบบ
Source - คมชัดลึก (Th)

Monday, July 17, 2017  05:39
45685 XTHAI XGEN DAS V%PAPERL P%KCL

          สุริยา ปะตะทะโย
          "ระบบเตือนภัย" ด้านการข่าว ถือเป็นหัวใจหลักในการป้องกันเหตุอาชญากรรม เพราะนอกจากสามารถป้องกันเหตุได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสามารถลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล (ผบก.ส.4) จึงได้พัฒนาระบบการข่าว ระบบเตือนภัย ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
          โดยเน้นพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ต.ชยพล ได้อธิบายถึงการริเริ่มโครงการ "สันติบาลเตือนภัย" ว่า หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่ง ผบก.ส.4 ก็ได้หารือกันภายในหน่วยถึงงานด้านการข่าวในปัจจุบันที่ทำอยู่ เพราะเป็นงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ดังนั้น จึงได้หารือกับ พล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบช.ส., พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. (ด้านความมั่นคง) และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ซึ่งก็มีความเห็นสอดคล้องกันที่จะพัฒนาระบบด้านการข่าว ให้มีการแจ้งเตือนอาชญากรรมในเชิงลึก จึงได้คิดโครงการ "สันติบาลเตือนภัย" ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ด้านการเตือนภัยเป็นหลัก เพราะที่ผ่านเห็นปัญหาที่เกิดมากมาย ทั้งปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาด้านการเมือง ปัญหาด้านอาชญากรรม ปัญหาการก่อการร้าย แต่ในขณะเดียวกันด้านการข่าวยังไม่ค่อยทันสมัยเท่าที่ควร ดังนั้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้การข่าวและการเตือนภัยมีระบบมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดนี้
          ทั้งนี้ หลักการทำงานของ "สันติบาลเตือนภัย" นั้น กองบังคับการตำรวจสันติบาล อยู่ภายใต้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล(บช.ส.) ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการวิเคราะห์ข่าว โดยมีทั้งหมด 6 กลุ่มงาน คือ 1.กลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวความมั่นคงของสถาบัน 2.กลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวทางเศรษฐกิจและสังคม 3.กลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวทางการเมือง 4.กลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวก่อการร้ายสากล 5.กลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวอาชญากรรมข้ามชาติ และ 6.กลุ่มงานประสานงานข่าวต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มงานนี้ก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารมาจากหน่วยงาน ทั้ง บก.ส.1 บก.ส.2 บก.ส.3 และบางส่วนได้รับข้อมูลมากจากข่าวภายนอกด้วย
          ผบก.ส.4 ยังได้อธิบายรูปแบบการทำงานด้วยว่า หากมีความเคลื่อนไหวของคนร้าย หรือกลุ่มการเมือง จะอยู่ในข่ายที่ต้องแจ้งเตือนด้วย ซึ่งระบบสันติบาลเตือนภัยได้ดำเนินการมาเกือบ 1 ปีแล้ว โดยจะอาศัยข้อมูลพื้นที่จากแหล่งข่าวต่างๆ ทั้ง บก.ส.1 บก.ส.2 และ บก.ส.3 รวมถึงหน่วยการข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยข่าวของทหาร ฝ่ายปกครอง ปัจจุบันได้มีการจัดชุดสายข่าว บก.ส.4 ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวในบางประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้านการข่าวที่ประสานความร่วมมือมาโดยตลอด คือ BRCT หรือศูนย์ประสานความร่วมมือประจำภูมิภาคกรุงเทพฯ เป็นการร่วมมือด้านการข่าวระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เป็นการเฝ้าระวังการก่อการร้าย เฝ้าระวังเว็บไซต์กลุ่มเสี่ยงต่างๆ และดูเรื่องร้องเรียนจากโซเชียลมีเดีย เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะนำมาเข้าระบบถังข้อมูล ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คิดขึ้นมาส่วนหนึ่งและประยุกต์มาจากโปรแกรม I2 Polis และ crimes ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เก็บรวบรวมฐานข้อมูลเป็นถังดาต้าเบสของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทั้งชื่อ ที่อยู่ ผู้ต้องหา รายละเอียดเกี่ยวกับหมายจับ ตำหนิ รูปพรรณ พฤติการณ์ ข้อมูลการก่อการร้าย วันเวลา และสถานที่ที่จะก่อเหตุ หลังจากได้ข้อมูลวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแล้ว จะส่งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ อีกส่วนหนึ่งก็จะแจ้งข้อมูลไปยังพื้นที่ผ่านทางเมล ไลน์ เป็นต้น
          สมมุติว่าจะเกิดเหตุในพื้นที่ กทม. ก็จะแจ้งไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือถ้ากรณีได้ข่าวว่าจะก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะแจ้งไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรง เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งก็จะนำข้อมูลไปวางแผนดำเนินการป้องกันเหตุ ที่ผ่านมาการทำงานทั่วไปของ บก.ส.4 นั้น เมื่อมีข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมก่อเหตุ หัวหน้าหน่วยก็จะเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับขั้น เพื่อพิจารณาสั่งการ แต่หลังจากนี้ นอกจากเสนอผู้บังคับบัญชาแล้ว จะต้องเอาข้อมูลที่เสนอเหล่านี้แจ้งเตือนไปยังหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพยสินของประชาชน
          "ระบบสันติบาลเตือนภัย ต้องอาศัยการสะสมคลังข้อมูลอาชญากรรม หลังจากเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเตือนตุลาคม 2559 ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ และมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังไปนานเท่าที่จะเก็บได้ ขณะเดียวกันได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของ I2 Polis และ crimes ซึ่งเป็นโปรแกรมเก็บรวบรวมข้อมูลคดีอาชญากรรมต่างๆ ของตำรวจอยู่แล้ว นำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ส่วนความแม่นยำในการเตือน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ต้องมีการพัฒนาข้อมูลให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำที่สุด"
          สำหรับสถิติการแจ้งเตือนตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2559 จนถึงปัจจุบัน มีสถิติแจ้งเตือนการก่อเหตุทั้งพื้นที่ กทม. และภาคใต้จำนวนทั้งสิ้น  91 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จ.นราธิวาส แจ้งเตือน 6 ครั้ง คนร้ายก่อเหตุจริง 10 ครั้ง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ความแม่นยำเท่ากับ 60%, ปัตตานี แจ้งเตือน 1 ครั้ง ก่อเหตุ 1 ครั้ง ความแม่นยำคิดเป็น 100%, ยะลา แจ้งเตือน 7 ครั้ง ก่อเหตุ 6 ครั้ง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เกือบ 100% และสงขลา แจ้งเตือน 1 ครั้ง ไม่ได้มีการก่อเหตุ คิดเป็น 100% ถือว่ามีความแม่นยำพอสมควร ส่วนเหตุการณ์เตรียมก่อเหตุป่วน กทม. หลายๆ เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา สันติบาลเตือนภัย ก็ได้รับการแจ้งเตือนเช่นกัน
          มีปัญหาร้องเรียน "สายตรวจระวังภัย" ทีมข่าวอาชญากรรม 0-2338-3636-7 อีเมล
cr_nation@hotmail.comหรือเฟซบุ๊ก สายตรวจประชาชน หรืออาชญากรรมทันข่าว--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก