e-Payment เปลี่ยนโลก ผู้บริโภค -องค์กรกำกับ พร้อม ?
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Thursday, February 01, 2018 20:00
1840 XTHAI XITBUS IT V%NETNEWS P%WPTK
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ เงิน
ข้อมูล
และการเยียวยา ความเสียหายของผู้บริโภคในธุรกรรม e-Payment ฉายภาพสถานการณ์อีเพย์เมนต์ของไทยในปัจจุบัน
สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดเผยว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อีเพย์เมนต์ไทยปี 2559 มีมูลค่า 954,798.58 ล้านบาท ขณะที่ สพธอ. สำรวจผู้ประกอบการขนาดย่อม (SME) พบว่า กว่า 80% ใช้ช่องทางชำระเงินออนไลน์แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังมีราว 20% เท่านั้นที่ยังชำระเงินออฟไลน์อยู่
โดย 59.86% เลือกจ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และเพย์เมนต์เกตเวย์ของธนาคาร 23% ชำระผ่าน e-Banking 13.33% ผ่านระบบ mobile payment หรือตัวแทน เช่น m-Pay true Money อีก 3.81% ชำระเงินผ่านระบบชำระเงินต่างประเทศ อาทิ paypal alipay
เหตุที่ยังเลือกชำระเงินออฟไลน์ 69.1% ยังสะดวกและสบายใจที่ใช้ช่องทางออฟไลน์ 51.4% ไม่มั่นใจในความปลอดภัย 27.1% ขั้นตอนออนไลน์ยุ่งยาก 22.9% กลัวไม่มีหลักฐานยืนยัน 11.8% ไม่รู้จัก/ไม่รู้วิธีจ่ายเงินออนไลน์
ความเสี่ยงยังมี
ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบกับการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ อาทิ กรณีเมื่อ ก.ย. 2555 สถาบันการเงินสำคัญของสหรัฐอเมริกา ถูกโจมตีด้วย DDos (Distributed Denial of-Service) โดยกลุ่ม Qassam Cyber Fighters ทำให้การบริการทางเว็บไซต์หยุดชะงัก กรณี ก.พ. 2559 ธนาคารกลางบังกลาเทศ ถูกลอบโอนเงินออก สูญเงินไป 81 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนที่กระทบในไทย คือ ก.พ. 2556 มีการโจมตีแบบ DDos จากกลุ่ม Anonymous กับเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา เอเชีย รวมถึงไทย ทำให้บริการขัดข้องหลายชั่วโมง กรณี ต.ค. 2558 ธนาคารพาณิชย์หลักในไทย 5 แห่ง ได้รับอีเมล์ข่มขู่เรียกเงินบิตคอยน์ แลกกับจะไม่โจมตีแบบ DDos จากกลุ่ม Armada Collective กลายเป็นจุดเริ่มต้นการหารือของ CEO financial sector เพื่อรับมือกับปัญหาไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และ ส.ค. 2559 ATM 21 ตู้ของธนาคารออมสินถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ เงินหายไป 12,291,000 บาท
ธนาคารกลางทุกประเทศกำกับมาตรฐานการให้บริการอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและซับซ้อนขึ้น เชื่อว่า ในอนาคตข่าวสารพวกนี้จะมากขึ้นอีก ฉะนั้นสำคัญคือจะมีกลไกในการหยุดการคุกคาม หยุดความเสียหายเหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร
กฎหมายให้สิทธิคุ้มครอง
ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เหตุที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามผลักดันให้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและใช้เงินสด ทั้งหวังว่าข้อมูลธุรกรรมอาจทำให้จัดเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 11% ใช้เงินสดซื้อของ และลดจำนวนลงทุกปี ขณะที่การใช้จ่ายผ่านระบบโมบายในประเทศจีนมีมูลค่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ในฝั่งของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้งาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาโดยตรงคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้วางหลักสำคัญ 5 ประการเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค คือ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ถูกต้อง 2.สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 4.สิทธิในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย
นอกจากยังมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 461 ที่ระบุว่า ผู้ขายจำเป็นต้องส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขาย ส่งมาชำรุดบกพร่อง อาจเป็นเหตุให้เสื่อมราคาเสื่อมความเหมาะสมเสื่อมประโยชน์ที่มุ่งหวัง ผู้ขายต้องรับผิดชอบ
ขณะที่ลักษณะการชำระเงินในปัจจุบันเริ่มมีทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ การใช้บิตคอยน์จ่ายเงินได้ ซึ่งมีหลายร้านในหลายประเทศเริ่มใช้งานแล้ว แต่สถานะทางกฎหมายต้องพิจารณาเยอะ
ในไทยก็ตื่นตัวเรื่องนี้ ทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต.(คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) กำลังปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ การออก ICO (Initial Coin Offering ระดมทุนผ่านการออกเหรียญเงินดิจิทัล)
โลกอีเพย์เมนต์เปลี่ยน
ภูมิ ภูมิรัตน นักวิชาการด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ย้ำว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล มาแรงมากจนรัฐบาลเริ่มต้องคิดถึงจุดยืน เพราะมีทั้งประโยชน์และประเด็นที่ต้องคิดทั้งการฟอกเงิน ความหวือหวาของค่าเงิน ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังออกแบบเพื่อการกำกับดูแล
ปัจจุบันเงินดิจิทัลพวกนี้ไม่ใช่แค่ชำระเงินได้ แต่ยังใช้ระดมทุนได้ จากเดิมที่เคยมีกลไกมากมายในการกำกับดูแลการระดมทุน แต่ ICO เลี่ยงกฎหมายทั้งหมดได้ และเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้กฎหมายต้องเปลี่ยนวิธีคิดมหาศาล
ขณะที่ 18 เม.ย. นี้ พ.ร.บ.การชำระเงิน พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ และช่วยอุดช่องโหว่ที่คนกังวลเรื่องระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการต่างชาติที่ไม่ถูกควบคุม
โดยสั่งห้ามไม่ให้คนไทยไปพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการที่ไม่มาขึ้นทะเบียน อาทิ ถ้าอาลีเพย์ไม่มาขึ้นทะเบียนกับ ธปท. ร้านค้าย่อยก็จะไปทำธุรกรรมรับชำระเงินด้วยอาลีเพย์ไม่ได้ เพราะถือว่ามีความผิด จึงจะช่วยแก้ปัญหาการบังคับใช้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง ก.ล.ต. กำลังจะทำแนวเดียวกันกับ ICO
ขณะที่ประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตาม พ.ร.บ.การชำระเงิน ฉบับใหม่ ธปท. จะประกาศเกณฑ์บังคับให้ผู้ให้บริการชำระเงินทั้งหลายต้องปฏิบัติ แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ได้ตัดตัวกลางออก ทำให้ความเสี่ยงไปอยู่ที่ผู้ใช้งานทุกคน แล้วผู้ใช้บริการจะพร้อมรับความเสี่ยงนี้หรือไม่
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ของโอมาน เพิ่งโดนแฮก เพราะว่าวิศวกรเน็ตเวิร์กซื้อโปรแกรม Firewall มาติดตั้งแล้วไม่ได้เปลี่ยนพาสเวิร์ด ยังใช้เป็น Adim อยู่ ทำให้เห็นว่า เรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ไม่ใช่แค่การออกกฎระเบียบ แต่การปฏิบัติยังต้องเป๊ะตามเกณฑ์ด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องบาลานซ์ และให้สิทธิ์ในการเลือกที่จะรับความเสี่ยงตามที่แต่ละคนรับได้ สำคัญคือ ต้องให้ความรู้ว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกรรมอยู่ที่ใคร ยิ่งในยุคที่ความรู้เท่าทันในเทคโนโลยียังน้อย
ระวัง แชร์ลูกโซ่ แปลงร่าง
พฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า นวัตกรรมการเงินพัฒนาอยู่ตลอด ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไร ผู้บริโภคควรเข้าใจอย่างถ่องแท้ อาทิ การเข้าลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ มูลค่าความผันผวนและความเสี่ยงสูงมาก ที่สำคัญคือ ยังไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ยังไม่มีผู้กำกับดูแล มีความเสี่ยงที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จำเป็นต้องพิจารณาว่าผลตอบแทนนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่แต่อ้างว่าเป็นการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล
ด้าน ภูมิ ย้ำว่า ประเทศนี้อะไรที่กลายเป็นสิ่งน่าสนใจก็จะถูกนำไปอ้างเพื่อหลอกลวงได้ทั้งนั้น เหตุเพราะคนสนใจเยอะ แต่มีคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ อยู่น้อย
ย้ำทุกครั้งที่มีคนมาปรึกษาว่า ไม่แนะนำให้สนใจมัน จนกว่าคุณจะเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี คือไม่ต้องเข้าใจลึกก็ได้ แต่ต้องเข้าใจบ้าง ตอนนี้มีคนถูกหลอกอยู่ตลอด อย่ากระโดดเข้าไปโดยไม่รู้อะไร
เดือดร้อนแจ้งสายด่วน ธปท.
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า พ.ร.บ. การชำระเงิน จะบังคับให้ผู้ให้บริการชำระเงินทุกรายต้องมีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งหากติดต่อไปแล้วไม่ได้รับการแก้ไข ให้แจ้งมาที่สายด่วน ธปท. 1213 แต่ก็ต้องพิจารณาว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ตรงไหน บางครั้งเป็นที่บริการ บางครั้งเป็นเพราะความไม่เข้าใจในสัญญาที่ทำไว้ แต่ถ้าเป็นปัญหาทางสัญญาแพ่งระหว่างกัน ธปท. จะไม่มีอำนาจ
เช่นเดียวกับ ภูมิ ที่ระบุว่า ผู้บริโภคจะต้องไล่วิเคราะห์ทีละประเด็นว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ตรงไหน ซึ่งแต่ละจุดจะมีกฎเกณฑ์กำกับอยู่
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์
ที่มา: www.prachachat.net