'อย.-กสทช.'จัดทีมตรวจเนื้อหา-ผิดพร้อมถอดทันทีระงับโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Friday, May 04, 2018  06:24
13863 XTHAI XLOCAL DAS V%PAPERL P%KT

          ประสานดีอีใช้พ.ร.บ.คอมพ์ จัดการโพสต์จากต่างประเทศ
          กรุงเทพธุรกิจ สำนักงาน กสทช.ผนึก"อย." เร่งระงับการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือโฆษณาเกินจริง โดย อย.จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่กสทช. พิจารณาภายใน 1 วัน หากผิด พร้อมออกคำสั่งระงับทันที ลุยคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านโซเชียลมีเดีย เอาผิดพวกโอ้อวดเกินจริง-หลอกลวง ประสานดีอีเล็งใช้พ.ร.บ.คอมฯจัดการบางกลุ่มโพสต์จากต่างประเทศ "วิระชัย" คุมทีมค้นตลาดใหม่ดอนเมืองต่อเนื่องยึดเครื่องสำอาง-อาหารเสริมอีก 4 คันรถ
          วานนี้ (3 พ.ค. ) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์
          โดยมี พ.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.)
          ตรวจเนื้อหารู้ผลใน1วันยุติออกอากาศ
          นายฐากร กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการทำงานตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้า จะต้องนำเนื้อหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช. พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือการโฆษณาเกินจริง สำนักงาน กสทช. จะสอบถามไปยัง อย. โดย อย. จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช. รวมระยะเวลากระบวนการจะใช้เวลา 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้ แต่หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะเร่งรัดการยุติการออกอากาศโฆษณาด้วยการลดขั้นตอนเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อประชาชนหรือต้องไม่เกิน 1 วัน
          เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะทำงานร่วมกันโดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก อย. มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ที่ผิดกฎหมาย ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ หากพบว่ามีโฆษณาใดที่ผิดกฎหมาย อย. จะทำหนังสือแจ้งมาเพื่อให้เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราว แล้วส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และ กสทช. ตามลำดับ จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ
          โทษสูงสุดไม่เกิน5ล้านปรับวันละแสน
          ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5(2) ที่ระบุว่าการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท
          ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดคือการแก้ไขที่ต้นทาง ไม่ให้มีโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อออกมาหลอกลวงผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่าง อย. และ กสทช. ในการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นผลดีที่ทำให้สามารถกลั่นกรองโฆษณาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การคุ้มครอง ผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการรับข่าวสารโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางวิทยุและโทรทัศน์ เนื่องจากผลของข่าวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ ณ เวลานี้ เป็นการโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย
          ทั้งในส่วนของสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุขด้วย ขอให้ทาง ผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึง ผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทางวิทยุและ โทรทัศน์ โปรดตรวจสอบเนื้อหา รวมถึง ต้องนำเนื้อหาการออกอากาศ มาขออนุญาตตามกฎหมายที่ อย. และ สสจ. กำกับดูแลอยู่ ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการคุ้มครอง ผู้บริโภคต่อไป
          ผู้บริโภค ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาเกินจริง
          นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่าผู้บริโภค ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค ขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ ส่วนเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556, อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th, ร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ ศรป. อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ หรือสายด่วน กสทช. 1200
          ประสานดีอีคุมโพสต์จากต่างประเทศ
          นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สามารถจัดการผู้กระทำความผิดได้และสธ.ได้ประสานการทำงานร่วมกันไปแล้ว แต่สธ.จะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ในการพิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านโซเชียลมีเดียที่ผิดกฎหมายด้วย เช่น เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งต้องหารือว่าจะสามารถนำพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาประกอบพิจารณาความผิดได้ด้วยหรือไม่
          เลขาฯอย. กล่าวด้วยว่า การจัดการโฆษณาที่ดำเนินการผ่านโซเชียลมีเดียมี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.มีฐานการโฆษณาในประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ และ 2. กลุ่มโฆษณาที่มีฐานดำเนินการในต่างประเทศ อาจดำเนินการจัดการได้ยาก จำเป็นต้องหารือกับกระทรวงดีอีว่าจะมีมาตรการจัดการอย่างไรได้บ้าง ขณะนี้อย.มีข้อมูลผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้จากต่างประเทศด้วย
          ค้นตลาดดอนเมืองซ้ำยึดอีก4คันรถ
          ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. เดินทางมายังตลาดใหม่ดอนเมือง เพื่อร่วมปฏิบัติการตรวจค้นร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมผิดกฎหมาย และที่ไม่มีเลขจดแจ้ง อย. เป็นวันที่สอง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบร้านค้าที่เข้ามาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และให้ความร่วมมือในการเข้าตรวจสอบร้านค้า จากนั้นได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริมที่เข้าข่ายไม่ถูกต้อง ซึ่งมีเจ้าของร้านต่างๆนำไปตรวจสอบ โดยนำของกลางทั้งหมดขนย้ายไปยังสโมสรตำรวจ เพื่อรอการตรวจสอบ จากเจ้าหน้าที่ อย. ส่วนเจ้าของร้าน ก็ต้องเดินทางไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนด้วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การตรวจยึดและขนย้ายของกลางในวันนี้เจ้าหน้าที่ใช้รถสองแถวจำนวน 3 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ อีก 1 คัน รวมเป็น 4 คัน ขณะเดียวกันพบว่าสินค้าที่ตรวจยึดได้ มีผลิตภัณฑ์ ในเครือเมจิกสกิน เช่น สลิมมิลล์ และ สโนว์มิลล์ อีกด้วย--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ