จับจริง! 15จุดตรวจจับเปลี่ยนช่องเดินรถ
Source - สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. (Th)
Wednesday, May 09, 2018 12:41
15047 XTHAI XETHIC SOC V%WIREL P%INN
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธีรศักดิ์ สุริวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร ร่วมแถลงข่าว บก.จร. เอาจริง ดีเดย์ ใช้ระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องเดินรถในเขตห้าม (Lane Change Camera System) โดยเริ่มวันนี้(9พ.ค.)เป็นวันแรกว่า โครงการเป็นการบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันการกระทำความผิด ลดอุบัติเหตุ และลดปัญหาการจราจรติดขัดจากพฤติกรรมดังกล่าว โดยในระยะเริ่มต้นได้ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจจับดังกล่าว จำนวน 15 จุด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 14,387,220 บาท โดยโครงการดังกล่าว บก.จร. ได้ว่าจ้าง บริษัท นิวซีโน่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ติดตั้งระบบตรวจจับฯ และพัฒนาระบบร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยเริ่มดำเนินการติดตั้งมาตั้งแต่ มิ.ย.60 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งทั้ง 15 จุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
(1) สะพานข้ามแยกบางเขน ถ.งามวงศ์วาน ขาเข้า
(2) สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขาออก
(3) ทางลอดแยกห้วยขวาง ถ.รัชดาภิเษก ขาเข้า
(4) สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถ.บรมราชชนนี ขาออก
(5) สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถ.แจ้งวัฒนะ ขาเข้า
(6) สะพานข้ามแยกราชเทวี ถ.เพชรบุรี ขาออก
(7) แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถ.ราชวิถี ขาเข้า
(8) สะพานข้ามแยกประชานุกุล ถ.รัชดาภิเษก ขาออก
(9) สะพานศิริราชด้านอรุณอัมรินทร์ ถ.อรุณอัมรินทร์ ขาออก
(10) สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว ขาเข้า
(11) สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว ขาออก
(12) สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถ.รัชดาภิเษก ขาออก
(13) สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถ.รัชดาภิเษก ขาออก
(14) สะพานพุทธ ถ.ประชาธิปก ขาเข้า
(15) สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถ.กัลปพฤกษ์ ขาออก
โดยแต่ละจุดจะมีป้ายแจ้งเตือน 3 ระยะ คือ ในระยะ 100 เมตร, 50 เมตร และ 30 เมตร
ก่อนถึงจุดตรวจจับ ในส่วนของระบบการตรวจจับในแต่ละจุดประกอบไปด้วยกล้อง 4 ตัว ทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง มีความคมชัดและละเอียดสูง 2 ล้านเมกกะพิกเซลล์ สามารถตรวจจับได้ทั้งกลางวัน กลางคืน และทุกสภาพอากาศ สามารถบันทึกข้อมูลเก็บไว้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี ระบบจะดำเนินการตรวจจับ เมื่อพบการกระทำความผิด กล้องจะทำการบันทึกข้อมูลทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวผ่านระบบ ATS (Automated Ticketing System) และส่งภาพข้อมูลดังกล่าวกลับมายัง ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนรถ, ยี่ห้อ, รุ่น และสีของรถ หากถูกต้องครบถ้วนจะดำเนินการออกใบสั่งและส่งไปยังระบบ PTM (Police Ticket Management) ของธนาคารกรุงไทยเพื่อได้บาร์โค้ดกลับมา จากนั้นจะยืนยันความถูกต้องเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการออกใบสั่ง ส่งไปยังผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถภายใน 7 วัน สามารถตรวจสอบความผิดย้อนหลังผ่านเวปไซท์ URL หรือทาง เวปไซท์ http://www.trafficpolice.go.th ด้วยรหัสผ่านที่ระบุท้ายใบสั่งได้
จากสถิติการทดลองตรวจจับตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.61 ที่ผ่านมาพบผู้ฝ่าฝืนจำนวนทั้งสิ้น 226,257 รายต่อเดือน เฉลี่ย 7,542 รายต่อวัน สำหรับความผิดดังกล่าวเป็นข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นที่ ตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 152 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในเบื้องต้น บก.จร. จะทำการเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 500 บาท โดยสามารถชำระค่าปรับผ่านเคาน์เตอร์และตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือผ่านบริการ KTB netBank หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง
ที่มา: www.innnews.co.th