ร้องศูนย์ดำรงธรรมเร่งรัดกรณีชาวบ้านโดนหลอกปลูกมันญี่ปุ่น
Source - มติชนออนไลน์ (Th)

Wednesday, May 09, 2018  11:41
43292 XTHAI XLEGAL XETHIC CRIM V%WIREL P%MTCO

          กรณีเกษตรกรผู้ปลูกมันเทศญี่ปุ่นเข้าเรียกร้องให้บริษัท พี.พี.เท็นกรุ๊ป จำกัด อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ชี้แจงและจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรหลังทำสัญญาเพาะปลูก และซื้อขายยอดพันธุ์เพื่อส่งขายคืนให้กับทางบริษัท แต่ไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด โดยบริษัทอ้างว่า “จะรับซื้อผลผลิตทุกยอดถึงที่และจ่ายเงินสด” ทำให้มีเกษตรกรได้รับความเสียหายกว่า 200 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท โดยเป็นเกษตรกรในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา, พิษณุโลก, ชัยภูมิ, ลพบุรี, ขอนแก่น, สระแก้ว, นครสวรรค์, สุพรรณบุรี, เพชรบูรณ์, ปราจีนบุรี, พิจิตร และร้อยเอ็ด ต่อมาวันที่ 4 เมษายน ได้ร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ให้ช่วยเหลือ และวันที่ 5 เมษายน บริษัท พี.พี.เท็นกรุ๊ป จำกัด ได้ชี้แจงและนำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังเก็บยอดมันเทศญี่ปุ่นที่รับซื้อมาจากเกษตรกรในเครือข่าย พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่ได้คิดทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ ทุกอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่เกษตรกรบางราย เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้
ล่าสุดวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้นำผู้เสียหายเพิ่มเติมจากกรณีนี้กว่า 60 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสียหายจากพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมาได้แก่ อ.ครบุรี อ.บัวลาย อ.ชุมพวง อ.พิมาย อ.ปักธงชัย อ.โนนสูง เข้าร้องเรียนแก่ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเร่งรัดติดตามความคืบหน้า เนื่องจากขณะนี้ยังมียอดผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีนางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับเรื่องร้องทุกข์และให้คำปรึกษา พร้อมช่วยในการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปักธงชัย เพื่อให้รับเรื่องร้องเรียน
          นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องของการปลูกมันญี่ปุ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการร้องเรียนเข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นกระบวนการหลอกลวงโดยรับซื้อต้นกล้าจากชาวบ้าน แล้วให้ชาวบ้านนำต้นกล้าไปขายต่อให้กับชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ใช้วิธีการให้ชาวบ้านแต่ละคนเป็นตัวแทน หาสมาชิกและให้ผลตอบแทน ซึ่งตัวแทนบางคนอาจถูกอุปโลกน์ขึ้นมา ได้ผลตอบแทนเป็นรถที่ทางบริษัทดาวน์ให้แต่ต้องชวนคนมาตามที่กำหนด บางคนเป็นตัวแทนชุมชน เป็นผู้ใหญ่บ้าน อาจจะมีลูกข่ายอยู่แล้ว สุดท้ายถูกหลอกทั้งหมด จึงทำให้ผู้เสียหายเดินทางมาร้องเรียนที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะบริษัทอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของประชาชน โดยผู้ว่าฯมีอำนาจตามมาตรา 7 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนสามารถที่จะเรียกบริษัทดังกล่าว หรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวมาชี้แจง ตรวจสอบการจ่ายภาษี ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย ซึ่งผู้ว่าฯ มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องร้องเรียนกับผู้เสียหาย และทาง สภ.ปักธงชัยก็ได้รับเรื่องไว้แล้ว เพื่อให้มีการสอบปากคำผู้เสียหายให้แล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุด

          ที่มา: www.matichon.co.th