คอลัมน์: สายตรวจระวังภัย: 'ธปท.' เตือนภัย!หลอกให้ลงทุน ทางโซเชียลมีเดียยังมีอีกเพียบ
Source - คมชัดลึก (Th)

Wednesday, May 09, 2018  03:41
64538 XTHAI XENV XWEATHER XHEALTH DAS V%PAPERL P%KCL

          จิติมา จันพรม
          การติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การทำธุรกิจค้าขายในยุค "ดิจิทัล" ทำให้ เกิดความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและไลน์ซึ่งช่องทางเหล่านี้แทบจะเป็นโหมดการติดต่อสื่อสารหลัก ของทุกสาขาอาชีพเลยก็ว่าได้ เพียงแค่มี สมาร์ทโฟน อยู่ที่ไหนที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าถึงได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ไม่ใช่มีแค่  "สุจริตชน" ที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพราะเหล่า "มิจฉาชีพ" อีกจำนวนไม่น้อย ก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ถือเป็นภัย ใกล้ตัวที่มาพร้อมสัญญาณ  4G เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อถูกต้มตุ๋น หลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักและห่วงใยประชาชนไม่อยากให้ตกเป็นเหยื่อ "โจรออนไลน์" โดยเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นายอดุลย์ ค้ำชู ผอ.ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยทางการเงินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ในช่วง 3 เดือนของปี มีเรื่องร้องเรียนผ่านหมายเลข 1213  ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน กว่า 2,100  เรื่อง ซึ่งลดลงเหลือ 1,600  กว่าเรื่อง ถือว่ามีเรื่องลดลงมากเมื่อเทียบสถิติในอดีตที่มีแต่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด อาจเป็นเพราะว่าในช่วงที่ผ่านมา มีความร่วมมือกันทุกฝ่ายในการปราบปรามโดยเฉพาะ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่เคยเป็นภัยอย่างหนัก มีผู้เสียหายจำนวนมากและมีการร้องเรียนเข้ามาเยอะ
          "การปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญประชาชนรับรู้ข้อมูลและเข้าใจมากขึ้น ทำให้การตกเป็นเหยื่อน้อยลง แต่มิจฉาชีพมีการเปลี่ยนรูปแบบ เช่น จดหมายอ้างเป็นผู้บริหาร ธปท.เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับโอนเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชีในประเทศ ซึ่งการนำเงินเข้าไม่มีค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถ้าประชาชนรู้ข้อมูลว่าธุรกรรมการนำเงินเข้าสามารถทำได้ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ หรือตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ ธปท. อยู่แล้ว" นายอดุลย์ อธิบาย
          ผอ.ธปท.สำนักงานภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เตือนว่า ถึงแม้ดูสถิติการร้องเรียน จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ภัยทางการเงินยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยที่มาในรูปแบบออนไลน์ การชักชวนลงทุนผ่านสื่อทางโซเซียลมีเดีย มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภัยด้านนี้ยังมีองค์ประกอบสร้างความเชื่อถือโดยคนใกล้ชิด ซึ่งไม่แตกต่างจาก "แชร์ลูกโซ่"บางทีมีการชักชวนโดยขอยืมเพื่อลงทุนโดยให้ผลประโยชน์ดอกเบี้ยสูง ฉะนั้นขอให้ประชาชนได้ระวัง ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ถ้าหากถูกชักชวนให้ลงทุนที่เอาผลประโยชน์มาหลอกล่อให้หลงเชื่อ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อน หรือโทรสายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. รวมทั้งสายด่วนของสถาบันอื่นๆ เช่น สายด่วนดีเอสไอ 1202 สายด่วนการหลอกลวงทางโซเชียล มีเดีย ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 0-2142-2555-60 สายด่วน ปปง. 1710 เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนจะตัดสินใจนำเงินไปลงทุน
          แม้จะมีคดีตัวอย่าง หรือการแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะ แต่ยังคงมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยๆ เพราะจะอาศัยความน่าเชื่อถือของคนใกล้ตัว หว่านล้อมด้วย "เงินค่าตอบแทน" หรือหากินกับ "ความโลภ" ถ้าตั้งสติ ไม่โลภ และตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจก็จะทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์..!!

          บรรยายใต้ภาพ 
          เจ้าของธุรกิจเสริมความงามร้องปอท. ถูกมิจฉาชีพปลอมเพจหลอกขายสินค้า
          ผู้เสียหายแชร์ออนไลน์--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก