ไขมันทรานส์ ตัวร้ายทำลายสุขภาพ ยิ่งรู้จักยิ่งควรห่าง
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Saturday, May 26, 2018 03:01
26791 XTHAI XSPORT DAS V%PAPERL P%PTK
เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์รณรงค์ให้ทั่วโลกเลิกใช้ ไขมันทรานส์ โดยมีเป้าหมายให้ไขมันทรานส์หมดไปจากโลกภายในปี 2567
เจ้า "ไขมันทรานส์" มันร้ายกาจอย่างไร ทำไมควรถูกกำจัดให้หมดไปจากโลก หลายคนรู้จักพิษภัยของมันอยู่แล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่รู้
เมื่อเร็ว ๆ นี้เช่นกัน เทสโก้ โลตัส จัดงาน "Healthy@Heart ใส่ใจ ให้คนไทยสุขภาพดี"เปิดตัวเบเกอรี่ปราศจากไขมันทรานส์ ซึ่ง สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบริษัท เทสโก้ โลตัส บอกว่า เทสโก้ โลตัส ได้การปรับสูตร เบเกอรี่แบรนด์เทสโก้ทุกรายการให้ปราศจากไขมันทรานส์แล้ว
ในงานนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภค อาจารย์มาลี จิรวงศ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ไขมันทรานส์ หรือ trans fatty acids เป็นไขมันไม่อิ่มตัว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไขมันทรานส์ตามธรรมชาติที่เจอได้ไม่บ่อย เช่น ในเนื้อสัตว์เคี้ยวเอื้อง ส่วนที่เจอบ่อยคือไขมันทรานส์ชนิดเกิดจากการสังเคราะห์ของมนุษย์ ที่ใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) หรือ PHOs เข้าไป เพื่อให้น้ำมันมีคุณสมบัติดีขึ้น เช่น เก็บได้นาน เหม็นหืนช้า ไม่เหลวง่าย ทนความร้อนสูง ปัจจุบันไขมันทรานส์ชนิดที่ได้จากการสังเคราะห์ของมนุษย์ได้รับความนิยม ในกลุ่มกิจการร้านอาหารใช้น้ำมันหรือไขมัน ร้านเบเกอรี่
เรื่องความร้ายกาจของไขมันทรานส์ชนิดสังเคราะห์นั้น อาจารย์มาลีบอกว่า ไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บอกว่า ไขมันทรานส์สังเคราะห์ทำให้เกิดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจมากกว่าการกินไขมันอิ่มตัวปกติถึง 2 เท่า
ตรงกันกับข้อมูลของ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่บอกว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคหวาน มัน เค็ม มากเกินไป จากจำนวนผู้เสียชีวิต 100 คน มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ถึง 73 คน และมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในสาเหตุก่อโรคมาจากการบริโภคไขมันทรานส์
สำหรับสถานการณ์ไขมันทรานส์ในประเทศไทย อาจารย์มาลีให้ข้อมูลว่า เมื่อไม่นานมานี้ อย.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยปริมาณไขมันทรานส์ในตลาด พบว่ายังมีร้านที่ใช้ไขมันทรานส์ทำอาหาร แต่มีจำนวนไม่มาก
อาจารย์มาลีบอกอีกว่าค่อนข้างมั่นใจว่าร้านอาหารตามตลาดสดเกือบทั้งหมดน่าจะไม่ใช้ไขมันทรานส์ เนื่องจาก 10 ปีก่อนได้สำรวจบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั้งหมด 17 รายที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งทุกรายเลิกผลิตน้ำมันด้วยกระบวนการ PHOs มีที่ตรวจเจอคือร้านและแบรนด์จากต่างประเทศที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า แต่หลังจากมีกฎหมายประกาศเลิกใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำการตรวจสอบอีกครั้ง หลังกฎหมายประกาศจะต้องไม่มีไขมันทรานส์ในประเทศไทย--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 - 30 พ.ค. 2561--