คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ได้เวลา..ยกเครื่อง 'ทีแคส' ทปอ.จัดทัพใหม่ รับมือปี'62
Source - มติชน (Th)

Tuesday, June 26, 2018  05:45
20660 XTHAI XEDU XREL MIDD DAS V%PAPERL P%MTCD

          เบญจมาศ เกกินะ

          หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เริ่มใช้ ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรก แต่กลับพบสารพัดปัญหาเดิมๆ ที่พยายามแก้ไขมานานกว่า 50 ปี ทั้งระบบอืด ระบบล่ม กั๊กที่นั่ง และ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ
          ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เด็กและผู้ปกครองเกิดความเครียด เพราะคัดเลือกยาวถึง 5 รอบ โดยใช้เวลานานกว่า 10 เดือน!!
          ปัญหาหนักสุดที่ทำให้ ทปอ.ถูกเด็กๆ รุมกระหน่ำ ในโซเชียลไม่หยุดไม่หย่อน คือการให้กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เข้าร่วมรับตรงในทีแคส รอบที่ 3 ทำให้เด็กที่เลือกสอบแพทย์สามารถเลือกได้ถึง 7 คณะ/สาขา เพราะนับการเลือกคณะในกลุ่ม กสพท เป็น 1 คณะ ต่างกับเด็กที่เลือกเรียนในสาขาอื่นที่เลือกได้ตามสิทธิเพียง 4 คณะ/สาขา
          ซ้ำร้ายกว่านั้น เด็กกลุ่ม กสพท กลับสอบติดคณะเด่นๆ ในมหาวิทยาลัยดัง ซึ่งเป็นคณะที่เด็กๆ หลายคนหมายปอง
          ดราม่ายาวๆ จึงเกิดขึ้น แก้กั๊กสิทธิไม่ได้ แถมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เด็กเก่งแย่งที่เรียนเด็กอื่นๆ เช่นเคย แต่ก็เพราะระบบเปิดช่องให้ใช้สิทธิเต็มที่เรื่องนี้ จึงไปโทษเด็กไม่ได้...
          ถึงขั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไป "ทบทวน" ข้อผิดพลาด และหาแนวทางปรับเปลี่ยนระบบให้ดีกว่าเดิม
          ขณะที่ ทปอ.เองก็ยอมรับความจริงว่า ทีแคสรอบที่ 3 และรอบที่ 4 มีปัญหาจริงๆ
          ล่าสุดสั่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริง ผลดี ผลกระทบ ปัญหาของทีแคส เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการพัฒนาการทำงานในปี 2562
          ชุดแรก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของระบบการคัดเลือกทีแคส ปีการศึกษา 2561 มี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นประธาน
          ชุดที่สอง คณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 มี นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นประธาน
          และชุดที่สาม คณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศทีแคส ปีการศึกษา 2562 มี นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เป็นประธาน
          โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัดสินใจ กำหนดแนวทางการดำเนินการทีแคสปี 2562 ให้เสร็จเป็นรูปเป็นร่างภาย 3 เดือนนับจากนี้
          นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ใน ฐานะประธาน ทปอ.ระบุว่า การแก้ปัญหาครั้งนี้จะยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.ถือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง 2.หาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการสมัครให้มากที่สุด และ 3.ให้ประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม
          ขณะนี้ ทปอ.ได้รวบรวมข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทีแคส และนำมาพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 โดยคณะกรรมการทั้งหมดเป็นอดีตอธิการบดี และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษา นักวิชาการคนไทยที่มีความรู้เรื่องการมีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องด้านออนไลน์ และ Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการระดมความคิดเห็น ทั้งอดีต และปัจจุบัน จะนำมาดำเนินการ ในการพิจารณา
          "ที่ผ่านมารับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาอยู่แล้ว แต่เพราะเป็นทีแคสครั้งแรก อาจเข้าใจไม่ตรงกัน รอบหน้า จะปรับปรุงแน่นอน คาดว่าในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จะดำเนินการเช่นเดิม แต่อาจเปลี่ยนช่วงเวลาให้เหมาะสม" นายสุชัชวีร์กล่าว
          นายสมคิด ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อ เท็จจริงระบบทีแคส ปีการศึกษา 2561 เปิดประชุมนัดแรก ทันทีที่ได้รับแต่งตั้ง และให้สัมภาษณ์ว่า จะต้องมาดู ข้อเท็จจริงต่างๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับระบบทีแคส โดยเฉพาะ ปัญหาใหญ่ เช่น การรับสมัครทีแคสรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ทำไมเว็บไซต์การรับสมัครของ ทปอ.ถึงล่ม สาเหตุเกิดจากอะไร ที่สำคัญจะดูตัวเลขจำนวนสมัครทีแคส รอบที่ 3/1 และรอบที่ 3/2 ว่ามีเท่าไหร่
          จำนวนผู้สมัครในรอบที่ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา  หรือแอดมิสชั่นส์ ทำไมตัวเลขผู้สมัครถึงมีไม่มาก ทั้งที่ ทปอ.คิดว่ารอบแอดมิสชั่นส์เป็นรอบจริงที่เด็กจะมาสมัครจำนวนมาก แต่เด็กกลับสมัครรอบที่ 3 มากกว่า
          นอกจากนี้จะดูประเด็นการรับรอบที่ 1 การคัดเด็ก จากแฟ้มสะสมงาน หรือพอร์ตฟอลิโอ รับ 100-200 คน แต่คัดเลือกเหลือ 5 คน รอบที่ 2 การรับแบบโควต้า ไม่ให้ มีการสอบ แต่มีมหาวิทยาลัยไหนละเมิดไปสอบบ้าง รอบที่ 3 เด็กผ่านการคัดเลือกและมีคุณสมบัติครบ แต่มหาวิทยาลัยไม่เอาเลย
          ทั้งหมดนี้ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาหาข้อมูล เพราะไม่ใช่เรื่องของความคิดเห็น
          ขณะที่นายชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส กล่าวว่า ทีแคสประจำปี 2562 ต้องคำนึงถึงผลดี ที่จะต้องเกิดกับนักเรียน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัย เป็นหลัก เบื้องต้นจะคงรูปแบบการคัดเลือกไว้ 5 รอบ เหมือนเดิม เพราะการรับสมัครในแต่ละรอบมีวัตถุประสงค์ และข้อดีที่แตกต่างกันไป ส่วนระยะเวลาการดำเนินการ ทีแคสในปัจจุบันยาวเกินไป โดยใช้เวลา 10 เดือน จะปรับลดให้เหลือเพียง 5 เดือน โดยเริ่มประมาณเดือนมกราคมสิ้นสุดต้นเดือนมิถุนายน
          แต่หากจะต้องปรับลดระยะเวลาให้สั้นลง อาจต้อง ขอความร่วมมือจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการจัดทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT เร็วขึ้น แต่จะต้องการศึกษารายละเอียดต่างๆ ว่าจะปรับลดระยะเวลาในช่วงใดได้บ้าง
          ขณะเดียวกันคณะกรรมการพัฒนาระบบจะต้องศึกษาค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีการใช้จ่ายในระบบทีแคสค่อนข้างมาก
          ที่สำคัญ การยืนยันสิทธิต้องปรับ เบื้องต้นเห็นว่า ให้โอกาสยืนยันสิทธิเพียงรอบใดรอบหนึ่ง และจะขอสละสิทธิเพื่อไปสมัครรอบถัดไปไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่นั่ง และไม่ให้เด็กใช้สิทธิฟุ่มเฟือย
          ส่วนรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน เด็กทุกคนจะมีสิทธิเลือกเรียนใน 4 สาขา รวมถึงผู้สมัครกลุ่ม กสพท ด้วย และจะมีการประกาศผลสอบที่เด็กติดเพียง 1 ที่ ดังนั้นเด็กจะต้องตัดสินใจให้ดีก่อนจะเลือกคณะ/สาขาวิชา
          ขณะที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศทีแคส ชุดของ นพ.ชัยเลิศ จะประชุมคณะกรรมการนัดแรก วันที่ 4 กรกฎาคม โดยดูใน 2 เรื่อง คือปัญหาเซิร์ฟเวอร์ และระบบเว็บไซต์การสมัครว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน
          ภายใต้สโลแกนที่ ทปอ.ย้ำแล้วย้ำอีก ว่า 1 คน 1 สิทธิ ลดเหลื่อมล้ำ...
          ต้องจับตาว่า คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จะแก้ไขปัญหาทีแคสได้สะเด็ดน้ำแค่ไหน
          แต่ก็ต้องระวังว่าจะเป็นการกลับไปเปิดแผลเก่า "เด็กทิ้งห้องเรียน" หาก ทปอ.ตัดสินใจเริ่มกระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่เดือนมกราคม...
          ส่วนเด็กที่สมัครสอบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2561 ในรอบที่ 4 แอดมิสชั่นส์ ซึ่งประกาศผลในวันที่ 4 กรกฎาคม ก็ต้อง "ลุ้น" กันว่าจะมีเรื่องวุ่นๆ อีกหรือไม่??
          ตัวเลขรับสมัครทีแคส 4 รอบ
          ข้อมูลการรับสมัครทีแคส รอบที่ 1  แบ่งเป็น รอบที่ 1/1 พิจารณาจากพอร์ตฟอลิโอ เปิดรับ 107,765 ที่นั่ง ใน 75 มหาวิทยาลัย สมัคร 134,859 คน ผ่านเคลียริ่งเฮาส์ 59,140 คน ยืนยันสิทธิ 39,847 คน สละสิทธิ 19,293 คน รอบที่ 1/2 รับ 60,726 ที่นั่ง ใน 54 มหาวิทยาลัย สมัคร หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน64,828 คน ผ่านเคลียริ่งเฮาส์ 35,997 คน ยืนยันสิทธิ
          25,476 คน สละสิทธิ 10,521 คน
          รอบที่ 2  การรับแบบโควต้า โครงการพิเศษต่างๆ รับ 144,873 ที่นั่ง ใน 77 มหาวิทยาลัย สมัคร 224,124 คน ผ่านเคลียริ่งเฮาส์ 86,928 คน ยืนยันสิทธิ 59,709 สละสิทธิ 27,219 คน
          รอบที่ 3  รับตรงร่วมกัน รับ 100,334 ที่นั่ง ใน 63 มหาวิทยาลัย สมัคร 106,495 คน ยืนยันสิทธิในรอบ 3/1 พบว่ามีที่นั่งที่มหาวิทยาลัยเพิ่มเพื่อสำรองการกันที่  124,517 ที่นั่ง จำนวนนักเรียนที่ติดมากกว่า 1 ที่นั่ง มี 69,968 คน ยืนยันสิทธิ 51,626 คน สละสิทธิทั้งหมด 18,342 คน มีที่นั่งว่างเหลือเมื่อรวมการสำรองที่นั่งอีก 72,891 ที่นั่ง
          รวม 2 รอบ มีรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิแล้ว 58,075 คน ไม่ยืนยันสิทธิ 22,479 คน แบ่งเป็น สละสิทธิ/Decline ไม่เลือกสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิ 12,557 คน และไม่เข้าทำการใดๆ ในระบบ 9,922 คน จากจำนวนที่มหาวิทยาลัยกำหนดประกาศรับนักศึกษาในรอบดังกล่าว 100,334 คน
          รอบที่ 4  รอบแอดมิสชั่นส์ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 62 แห่ง รับ 83,953 คน ใน 3,303 สาขาวิชา มีจำนวนผู้สมัคร รวม 54,782 คน

          บรรยายใต้ภาพ 
          สมคิด เลิศไพฑูรย์
          ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล
          นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย
--จบ--

          --มติชน ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2561 (กรอบบ่าย)--