5 หน่วย เร่งสร้างกลไกโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
Source - สปริงนิวส์ (Th)

Friday, July 20, 2018  16:43
25304 XTHAI XGEN XLOCAL GEN V%WIREL P%SPNO

          อย. ร่วมกับ กระทรวงดีอี สำนักงาน กสทช. สคบ. และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารือกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต สามารถคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อเหตุการณ์
          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการหารือการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์มูลค่า E-commerce ในประเทศไทยปี 2560 พบว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2.8 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ เป็นค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาสูงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบางส่วนมีการโอ้อวด และโฆษณาเกินจริง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคสูญเสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับความเสียหายจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตหากหลงเชื่อ ทั้งนี้ 5 หน่วยบูรณาการกลไกจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          1. ใช้กลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง อย. กับ สำนักงาน กสทช. ในการระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายของสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน จากการดำเนินงานตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ระงับโฆษณาผิดกฎหมายจากสื่อโทรทัศน์และวิทยุได้จำนวน 199 รายการ ส่วนอินเทอร์เน็ต ได้ส่งเรื่องให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จำนวน 378 (URL) จึงเห็นควรนำกลไกการทำงานดังกล่าวมาใช้กับการทำงานร่วมระหว่าง อย. และกระทรวงดีอี ในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตด้วย
          2.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่กระทำผิด ที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ส่วนในกรณีที่เป็นเรื่องของการฉ้อโกง ให้ใช้กฎหมายการฟอกเงินร่วมด้วย
          3. เยียวยาผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. และ สคบ. จะร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งแทนผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในเรื่องของการตรวจสอบการขายตรงและตลาดแบบตรงได้ส่งเรื่องให้ สคบ. แล้ว จำนวน 64 URL
          4. มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
          5.การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภค ทางกระทรวงสาธารณสุขจะทำสื่อ บทความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย เช่น infographic โดยให้กระทรวงดีอีนำไปเผยแพร่ในเครือข่ายเน็ตประชารัฐ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ในเครือข่าย อสม. ออนไลน์ ด้วย

          ที่มา: www.springnews.co.th