จ.ราชบุรีประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Monday, July 23, 2018  09:32
54266 XTHAI XPR XEVENT XGOV PR V%WIREL P%PRD

          นายวิสิษฎ์  พวงเพชร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดราชบุรีได้รับแจ้งจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า จากการสืบสวนพบว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มแอบอ้างตัวเองว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วขอตรวจสอบฉลากสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จำหน่ายเครื่องเสียงแล้วเรียกรับประโยชน์จากผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขอยืนยันว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขอชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้า ดังนี้
          1.การลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าทุกครั้งจะต้องมีหนังสือแจ้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ ทราบล่วงหน้า หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีหนังสือนำไปแสดงต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่อย่างเป็นทางการทุกครั้ง
          2.พนักงานเจ้าหน้าที่จะแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้เห็นอย่างชัดเจนหรือกรณีเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องร้องขอ (ลงนามโดยเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)
          3.พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ส่วนกลาง) จะสวมเครื่องแบบชุดปฏิบัติการสีน้ำเงินแกมดำ มีป้ายชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
          4.ในการตรวจสอบฉลากสินค้าทุกครั้งจะมีเอกสารบันทึกผลการตรวจ ซึ่งจะแจ้งว่าสินค้าชิ้นใดมีการจัดทำฉลากถูกต้องหรือไม่ถูกต้องในข้อใด ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนามในเอกสารเพื่อรับทราบทุกครั้ง
          5.กรณีที่มีการจัดทำฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาชี้แจงจริงหรือให้ถ้อยคำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ยังที่ทำการของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
          ทั้งนี้ ในการตรวจสอบฉลากสินค้าทุกครั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่มีการยึด อายัดสินค้า ยกเว้น เป็นสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งห้ามขายสินค้าโดยจะดำเนินการจัดเก็บสินค้าทั้งหมด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 พนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดเก็บสินค้าเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น โดยไม่มีการเปรียบเทียบปรับหรือเรียกเงินใด ๆ ณ สถานที่จำหน่าย
          หากผู้ใดพบเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ขอให้ถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐานและแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบทาง สายด่วน สคบ.1166

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th