แนะ! เลือกทำศัลยกรรมในประเทศ มีกฎหมายดูแลรอบด้าน
Source - สปริงนิวส์ (Th)
Thursday, July 19, 2018 11:52
23087 XTHAI XGEN XLOCAL GEN V%WIREL P%SPNO
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะคนรักสุขภาพ ความงาม เลือกรับบริการสถานพยาบาลในประเทศเป็นอันดับแรก การเดินทางศัลยกรรมเสริมความงามนอกประเทศ หากเกิดผลกระทบการฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะทำได้ยาก
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศัลยกรรมเสริมความงามโดยสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งปัจจุบัน ประชาชนในทุกเพศ ทุกวัย ต่างให้ความสำคัญและมีค่านิยมในการพัฒนารูปลักษณ์ บางคนใช้เวลากับการทำศัลยกรรมหลายต่อหลายครั้งเพื่อแก้ไขรูปลักษณ์ของตน โดยมิได้คำนึงว่าการศัลยกรรมเสริมความงามก็เหมือนดาบสองคม ที่มิใช่ทุกรายศัลยกรรมเสริมความงามแล้วจะออกมาดูดี สวยงาม ดั่งที่หวัง ในบางรายที่ประสบปัญหาจนพบกับความเจ็บปวดทั้งร่างกาย และจิตใจก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งเป็นการเดินทางไปรับบริการศัลยกรรมเสริมความงามจากโรงพยาบาล หรือคลินิกนอกประเทศ หากเกิดผลกระทบจากการรักษาพยาบาล หรือเสริมความงาม การเยียวยาความเสียหาย หรือการฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะทำได้ยาก เนื่องด้วย กฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มิได้ครอบคลุมถึงสถานพยาบาลนอกประเทศ การดำเนินการจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจะเสร็จสิ้นคดี
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า จากปัญหาข้างต้น กรม สบส.จึงขอแนะให้ประชาชนเลือกรับบริการจากสถานพยาบาลในประเทศ เนื่องจากมีกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ควบคุม กำกับ ดูแล มาตรฐานของสถานพยาบาล ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร การบริการ และโฆษณาของ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก็จะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ ประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นธรรม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการไปรับบริการถึงต่างประเทศ
ส่วนกรณีที่บุคคล หรือเอเจนซี (Agency) ที่มีการโฆษณาหรือประกาศเชิญชวนประชาชนให้เดินทางไปรับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม หากมีการโฆษณาที่เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวด เกินจริง ก็จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกทั้ง หากเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 อีกด้วย
ที่มา: www.springnews.co.th