|
|
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.15 นาฬิกา ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานพิธีเปิดงาน "วันแด่มุสลิมอีสาน" และปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามุสลิมอีสาน" โดยมีนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ใจความตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมกับทุกท่านในวาระสำคัญเพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางการศึกษาแด่เยาวชนมุสลิมในภาคอีสาน ในโอกาส "วันแด่มุสลิมอีสาน" ครั้งนี้ ตามคำกล่าวรายงานของประธานจัดงาน ทำให้ทราบถึงความเป็นมา ความมุ่งหวังและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของมุสลิมไทยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนงานด้านศาสนาในพื้นที่ภาคอีสานที่มีความงดงาม ทรงคุณค่า และมีเรื่องราวการขับเคลื่อนมายาวนานกว่า 40 ปี งานวันแด่มุสลิมอีสาน ตนเคยไปเป็นประธานเปิดงานเมื่อปี 2559 ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มากกว่าจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ที่นี่เป็นที่ตั้งของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนามุสลิมอีสาน องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานขับเคลื่อนและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมุสลิมภาคอีสานมายาวนานกว่า 40 ปี ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสันติธรรมวิทยา โดยสอนในหลักสูตรสามัญศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนในพื้นที่โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนา ทราบมาว่านักเรียนที่เข้ามาเรียน นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือศาสนาคริสต์และอิสลาม จากวันที่เปิดงานในวันนั้น จวบจนมาเป็นประธานเปิดงานในวันนี้ ผ่านมาแล้วเป็นเวลา 8 ปี ได้เห็นพัฒนาการทั้งในเรื่องของโครงสร้างภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตด้วยการมีอาคารเรียนที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น มีการจัดการเรียนการสอนวิทยาการอิสลามและโปรแกรม SMART HAFIZ โดยการปรับปรุงระบบหอพักสำหรับนักเรียนมุสลิม ห้องเรียนการจัดงาน "วันแด่มุสลิมอีสาน" ได้สะท้อนให้เห็นถึงดินแดนแห่งพหุวัฒนธรรมกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข อันเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นของมุสลิมอีสาน คือการเข้าใจและยอมรับความหลากหลายของคนที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน ภายใต้หลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา มุสลิมอีสานเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมขนาดใหญ่ของภาคอีสานมาช้านานมุสลิมกลุ่มแรกที่เดินทางมาอาศัยอยู่ในภาคอีสานเป็นชาวมุสลิมปาทานจากประเทศปากีสถานหลังจากนั้นมุสลิมจากหลากหลายภูมิภาคก็ได้เดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน กระจายตัวไปในหลายจังหวัด แต่แม้ว่าในปัจจุบันจำนวนชาวมุสลิมไทยในภาคอีสานจะมีเพิ่มขึ้น แต่คำว่ามุสลิมและศาสนาอิสลามก็ยังดูเป็นของใหม่ในความรู้สึกของผู้คนในดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม การที่มุสลิมอีสานมีจำนวนไม่มาก และมีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเพื่อนต่างศาสนาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นความเมตตาที่สำคัญจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานให้กับมุสลิม ในการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องต่างศาสนิกผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิม การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของอิสลามให้กับเพื่อนบ้านเป็นภารกิจอับดับหนึ่งของความเป็นมุสลิมทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองศ์กรศาสนาควรแสดงคำสอนอิสลามผ่านกิจกรรมการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม และให้เกียรติเพื่อนบ้าน เช่น การจัดตั้งโครงการอิสลามศึกษาแก่ผู้สนใจทั่วไป การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีทั้งชาวพุทธ มุสลิม ชาวคริสต์ และอื่น ๆ สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ การเปิดพื้นที่ศาสนสถานให้เพื่อนต่างศาสนิกได้สัมผัสและเข้าใจวิถีอิสลาม การเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน และกิจกรรมอื่น ๆ ตามความถนัดส่วนการเปิดใจที่จะเข้ามาสู่ร่มเงาอิสลามของเพื่อนบ้าน ขอให้เป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้าองค์กรมุสลิมในทุกระดับ รวมทั้งส่วนบุคคลจะต้องให้ความสำคัญกับแนวทาง เครื่องมือที่เหมาะสม และเห็นคุณค่าของผู้อื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เราจะต้องให้เกียรติและเคารพ มุสลิมสามารถแบ่งปันการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้การบริการต่าง ๆ ด้วยคุณภาพและใส่ใจ ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคมในทุกสาขาวิชาชีพ ให้ความเป็นธรรมและความเมตตาต่อผู้อื่น สามารถสร้างสังคมมุสลิมที่มีดุลยภาพ มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่พลเมืองอย่างถึงที่สุดและเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และความหวังของประเทศในที่สุด ด้วยความมุ่งมั่น และความตั้งใจของคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนามุสลิมอีสาน คณะกรรมการบริหารโรงเรียนสันติธรรมวิทยา ตลอดจนภาคีเครือข่ายในวันนี้ได้สะท้อนภาพลักษณ์และอุดมการณ์อันแนวแน่ของพวกเราที่จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เยาวชนมุสลิมได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในหลักการศาสนา และนำไปสู่การปฏิบัติได้ถูกต้องตามแนวทางแห่งอัลลอฮ์ - อิสลาม ตลอดจนสามารถใช้ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ก้าวสู่การเป็นประชาชาติตัวอย่างได้อย่างภาคภูมิ เป็นการยืนยันถึงแนวทางและวิธีการดำเนินชีวิตของมุสลิมในประเทศไทย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในสังคมพหวัฒนธรรมได้อย่างงดงาม สันติและสมานฉันท์สิ่งเหล่านี้จึงเป็นพันธกิจของผู้ศรัทธาที่มิอาจละเลยวางเฉยได้ ขอถือโอกาสนี้แสดงความชื่นชมต่อเจตนารมณ์ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอเปิดงานวันแต่มุสลิมอีสาน ณ บัดนี้
จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบโล่เกียรติคุณให้กับผู้สนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าว จัดโดยจัดมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนามุสลิมอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการดำเนินงานการศึกษาในท้องที่ภาคอีสานประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐและเอกชนเพื่อการศึกษาอิสลาม ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนสนใจการศึกษา มุ่งหวังจะสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม และสามารถออกไปรับใช้สังคม บนฐานคิดของหลักสันติธรรมและหลักพหวัฒนธรรม อันจะเป็นการปลูกฝังเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมอย่างสันติสุขต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|