วันพุธที่ 24 เมษายน 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายเอ็มเร ฉะลึชคาน ประธานกลุ่มมิตรภาพฯ ตุรกี - ไทย และคณะ โดยมี น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการและเลขานุการกลุ่มมิตรภาพฯ ไทย - ตุรกี นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา นางฟารีดา สุไลมาน คณะทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุธีรพันธ์ สุขวุฒิชัย ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมีชัย ออสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์ทั่วไป โดยไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเป็นเวลา 66 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความสัมพันธ์ในระดับรัฐสภาดำเนินไปด้วยดีและมีความใกล้ชิดกันตลอดมา ซึ่งกลุ่มมิตรภาพฯ เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมาจนปัจจุบัน ตุรกีให้ความสำคัญกับไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในระดับรัฐสภาที่ผ่านมาไทยและตุรกีมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันบ่อยครั้งทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ประธานรัฐสภาเคยเดินทางไปเยือนตุรกีอย่างเป็นทางการและเป็นการส่วนตัว พบว่าตุรกีเป็นประเทศที่มีความสวยงาม รวมถึงความเป็นมิตรของชาวตุรกี ตุรกีจึงเป็นประเทศที่เหมาะแก่การเดินทางไปเยือนอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ประธานรัฐสภาได้มีโอกาสพบปะกับนาย Numan Kurtulmuş ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐตุรกี เมื่อครั้งเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชารัฐสภาเอเชีย (Asian Parliamentary Assembly : APA) ครั้งที่ 14 ณ อาเซอร์ไบจาน และขอเชิญประธานรัฐสภาสาธารณรัฐตุรกีเดินทางมาเยือนรัฐสภาไทยในโอกาสที่เหมาะสม และฝากความเคารพไปยังประธานาธิบดีตุรกี ทั้งนี้ ประธานกลุ่มมิตรภาพฯ ตุรกี - ไทยได้แจ้งว่า ประธานรัฐสภาตุรกีได้ฝากความระลึกถึงมายังประธานรัฐสภาด้วย
ด้านการศึกษา ประธานรัฐสภาได้กล่าวขอบคุณ รัฐบาลตุรกีที่ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาไทยมาโดยตลอด ปัจจุบันมีคนไทยในตุรกีจำนวนประมาณ 1,300 คน ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา หญิงไทยที่สมรสกับชาวตุรกี และแรงงาน ทั้งนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ตุรกีศึกษา (Turkish Studies Center) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2556 โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับมหาวิทยาลัยอังการา (Ankara University) อีกด้วย ซึ่งประธานกลุ่มมิตรภาพฯ ตุรกี - ไทยแจ้งว่า นับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลตุรกีได้ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนและนักศึกษาไทยไปแล้วกว่า 61 ทุน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะมาเปิดโรงเรียนในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งประธานรัฐสภายินดีให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว
ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาค ควรมีการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนในระดับประชาชน เพื่อเป็นอีกกลไกในการพัฒนาความสัมพันธ์ โดยประธานกลุ่มมิตรภาพฯ ขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวที่คัปปาโดเกีย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของตุรกีอันดับสองรองจากนครอิสตันบูล เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|