|
|
วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลา 09.15 นาฬิกา ณ ห้องประชุมนราทัศน์ โรงแรมอิมพีเรียล ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง "ปัญหาที่ดินทำกินในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป จ.นราธิวาส" ในโครงการรัฐสภาเพื่อการพัฒนา จ.นราธิวาส เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. จังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินโครงการจัดสัมมนาฯ กล่าวรายงาน ในการนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหารจังหวัดนราธิวาส และประชาชนในพื้นที่ร่วมสัมมนา
โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ได้ร่วมเวทีสัมมนากับวิทยากร ได้แก่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. จังหวัดนราธิวาส และนายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และประชาชน 4 อำเภอที่ได้รับผลกระทบได้แก่ อำเภอระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร และอำเภอรือเสาะ เข้าร่วมรับฟัง พร้อมสะท้อนปัญหาและแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เวทีสัมมนาในครั้งนี้มุ่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน 4 อำเภอ หากกรมอุทยานฯ ประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป โดยปรับเปลี่ยนแนวเขตที่เตรียมประกาศเขตอุทยานฯ เสียใหม่ ซึ่งต้องไม่ทับที่ดินทำกินของประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบแนวเขตอุทยานฯ ผ่านคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและที่ดินทำกินที่จังหวัดตั้งขึ้น โดยเพิ่มตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอละ 2 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการ อีกทั้งให้หน่วยงานเร่งดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ ทั้งนี้ หวังว่าแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ด้านนายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่า ก่อนที่กรมอุทยานฯ จะประกาศเขตอุทยานฯ ที่ใดก็ตาม จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป มีการเลื่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ มาหลายครั้ง และลดขนาดพื้นที่ลงเรื่อย ๆ จากเดิมประกาศครอบคลุม 60,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือ 40,000 ไร่ โดยจะต้องมีการเดินสำรวจแนวเขตตามสภาพข้อเท็จจริง หากพบว่าประชาชนมีการเข้ามาใช้พื้นที่ทำกินต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต จะไม่มีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ตรงพื้นที่ดังกล่าว แต่หากเข้าไปทำกินในพื้นที่หลังปี 2557 จะต้องดำเนินการตามกฎหมายป่าไม้ โดยการตรวจสอบผ่านภาพถ่ายทางอากาศ และยืนยันว่าการเดินสำรวจชี้แนวเขตอุทยานฯ ในครั้งใหม่นั้น จะต้องมีผู้แทนในชุมชนร่วมเดินสำรวจด้วยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่มติคณะรัฐมนตรี โดยขอให้ประชาชนไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาที่ติดอยู่ให้สำเร็จลุล่วง นอกจากนี้ เวทีสัมมนายังมีการพูดคุยถึงประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการบุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ โดยคาดว่ามีกว่า 17 ล้านคน ที่จะได้รับประโยชน์
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|