|
|
วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 - 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 28 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม นำโดย นายเกรียงไกร จรรยามั่น เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา ในการนี้ นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุธีรพันธ์ สุขวุฒิชัย ที่ปรึกษาคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรและนางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีที่มีโอกาสต้อนรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงในวันนี้ และดีใจที่ท่านให้ความสนใจสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งหลังจากนี้ท่านจะได้เข้าไปชมห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือห้องประชุมสุริยัน โดยวันนี้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่หนึ่ง เป็นวันที่สาม ซึ่งสภาฯ ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 ก.ย. 67 และการพิจารณาในวันนี้น่าจะลงมติได้ไม่เกินเวลา 24.00 น. ตามที่ตกลงกัน โดยหลังจากรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว จะมีการตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาพิจารณา จำนวน 72 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาลและพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามสัดส่วน ใช้เวลาในการพิจารณาทุกมาตราอย่างรอบคอบ ครบทุกประเด็น และจะมีการพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สามประมาณเดือน ก.ย. 67 เพื่อให้สามารถประกาศใช้ในเดือน ต.ค. 67 ซึ่งจะเข้าสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการอธิบายกระบวนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎหมายเพื่อให้กระบวนการตุลาการนำไปใช้ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เป็น 3 เสาหลักในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความแข็งแรงและเที่ยงตรงจึงเกิดความยุติธรรมกับประชาชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในฐานะที่ท่านมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย และเป็นเรื่องที่สำคัญ หากที่ใดไม่มีความยุติธรรม ไม่เป็นธรรม ที่นั่นก็มีความเดือดร้อนและมีการต่อสู้กัน แต่หากที่ใดมีความยุติธรรมและมีความเป็นธรรม ที่นั่นก็จะมีความสงบสุขดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่าย เพราะบ้านเมืองจะสงบสุข ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุขได้นั้น กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผู้ใช้กฎหมายต้องมีธรรมาภิบาลในการใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่ศาลและการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ควรเริ่มต้นตั้งแต่ความคิด ครอบครัว และสถานศึกษา ซึ่งต้องปลูกฝังเรื่องของความยุติธรรมให้ทุกคนได้เข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|