|
|
วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง ศ.ดร.อะห์เมด มุฮัมมัด อะห์เมด อัล-ฏอยยิบ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียิปต์ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อียิปต์ นายอับดุลอายี สาเม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวรวิทย์ บารู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายซาการียา สะอิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายยูนัยดี วาบา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายสุไลมาน บือแนปีแน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายดำรง พุฒตาล ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (กิตติมศักดิ์) นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นางฟารีดา สุไลมาน คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุธีรพันธ์ สุขวุฒิชัย คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
ประธานรัฐสภา กล่าวต้อนรับผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ที่ให้เกียรติมาเยือนรัฐสภาไทยในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งกล่าวว่า ไทยและอียิปต์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในทุกระดับ โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับราชวงศ์ ระดับผู้นำระดับสูง และระดับสมาชิกรัฐสภาผ่านช่องทางของกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาฯ ซึ่งในปีนี้จะครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน นอกจากนี้ ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาเมื่อ 30 ปีก่อน ได้เดินทางไปเยือนรัฐสภาอียิปต์และมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ประธานรัฐสภาฯ กล่าวขอบคุณในความช่วยเหลือของอียิปต์และมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ในเรื่องการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ที่อียิปต์จำนวนเกือบ 3,000 คน ในสาขาด้านศาสนาและสายสามัญต่าง ๆ อาทิ อิสลามศึกษา ภาษาอาหรับ วิศวกรรมและเทคโนโลยี และการแพทย์ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้กลับมาสร้างประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกล่าวขอบคุณ มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร ที่ได้ส่งครูมาสอนภาษาอาหรับและศาสนาอิสลามสายกลางในหลายจังหวัดของไทย ซึ่งถือความร่วมมือที่ดีระหว่างกันโดยผ่านสำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รัฐสภามีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนในทุกโอกาส เพื่อขยายความร่วมมือให้มากขึ้น และหากมีโอกาสตนจะนำคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเดินทางไปเยือนอียิปต์อีกครั้งในอนาคต
ด้านผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กล่าวขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าพบปะหารือกับประธานรัฐสภาฯ พร้อมกล่าวเห็นด้วยกับความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ยาวนานระหว่างมหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร และประเทศไทย โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งสภานักวิชาการมุสลิมขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการเผยแพร่ศาสนาอิสลามสายกลางที่ถูกต้องให้กับชาวมุสลิมในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างสันติร่วมกัน ซึ่งต้องอาศัยการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในพัฒนาประเทศและการลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องการขยายกรอบอัตราของทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยในอนาคต โดยผ่านการประสานงานกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทยต่อไป
เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|