|
|
วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 โซนกลาง อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้การรับรองนายเปโตร สวาห์เลน (H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธรัฐสวิสให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยมีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - สวิตเซอร์แลนด์ นายดำรง พุฒตาล ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (กิตติมศักดิ์) นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายฐาคนิษฐ์ พรทองประเสริฐ ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา นายธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นางฟารีดา สุไลมาน คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมให้การรับรอง ประธานรัฐสภา กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ พร้อมกล่าวถึง ความสัมพันธ์ไทย สมาพันธรัฐสวิส ที่มีมาอย่างนานถึง 100 กว่าปี และมีความแน่นแฟ้นกันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับราชวงศ์ โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสในปี 2440 อีกทั้ง ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชการที่ 9 ได้เคยประทับและทรงศึกษาอยู่ที่สมาพันธรัฐสวิสเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นความประทับใจที่อยู่ในหัวใจคนไทยทุกคนจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิสในโอกาสต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงบุคคลสำคัญของรัฐบาลและรัฐสภาต่างล้วนเคยเดินทางไปเยือนสมาพันธรัฐสวิส อีกทั้งความสัมพันธ์ในระดับประชาชนก็มีความใกล้ชิดกัน โดยปัจจุบันมีชาวไทยอาศัยอยู่ในสมาพันธรัฐสวิสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นคน ประธานรัฐสภา กล่าวชื่นชมสมาพันธรัฐสวิสว่าถึงจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศหลายองค์การ อาทิ องค์การการค้าโลก องค์การอนามัยโลก เป็นต้น เนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสมีความเป็นประชาธิปไตย มีความเป็นกลาง และยึดหลักนิติธรรม โดยจะเห็นได้จากสมาพันธรัฐสวิสได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาประจำฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ตนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาประจำฤดูใบไม้ร่วง ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ด้วย นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายังได้กล่าวชื่นชมเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์งานด้านการทูตสูง จึงสามารถพัฒนาต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทย-สมาพันธรัฐสวิส ได้เป็นอย่างดี เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาและคณะ ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ตนรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก และชื่นชอบประเทศไทยเนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงาม พร้อมกล่าวว่าปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวสวิสมาไทยจำนวน 150,000 คน ซึ่งไทยเป็นประเทศท่องเที่ยวที่นิยมที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับชาวสวิส สำหรับด้านการค้าการลงทุน ไทย- สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association : EFTA) อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทยEFTA โดยได้มีการเจรจากัน ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อสัปดาห์ก่อน หากการจัดทำความตกลงดังกล่าวสำเร็จจะทำให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าการค้าไม่ใช่เพียงแค่ไทยและสมาพันธรัฐสวิสเท่านั้น แต่ประเทศสมาชิกในกลุ่มสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปจะได้รับประโยชน์อีกด้วย ได้แก่ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมาพันธรัฐสวิส มีกำหนดการเดินทางเยือนไทยในช่วงเดือนกันยายน 2567 นี้ด้วย เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจัดทำเขตการค้าเสรีดังกล่าว นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เรียนรู้ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลายเช่นเดียวกับสมาพันธรัฐสวิส โดยภาษาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสันติภาพและสันติสุข เพราะภาษาเป็นการแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง อีกทั้งการเรียนภาษาที่ 2 เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างรากฐานการศึกษา เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|