สคบ.เล็งล้อมคอก'ขายเครื่องสำอาง'เกลื่อนเฟซบุ๊ก-IG
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Wednesday, August 10, 2016 02:26
47271 XTHAI XOTHER XFRONT XECON DAS V%PAPERL P%PTK
เครื่องสำอางขายเกลื่อนโซเชียล "เฟซบุ๊ก-ไอจี" แชร์ส่วนแบ่งตลาด 2.5 แสนล้าน สคบ.หารือเอ็ตด้ากระทรวงพาณิชย์ล้อมคอก เพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแลเท่าตัว เดินหน้า ผลักดันกฎหมายตลาดแบบตรง ด้านแบรนด์เครื่องสำอางจี้รัฐจัดระเบียบ
นายไพโรจน์ คนึงทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การขายสินค้าออนไลน์ โดยที่ผู้ซื้อไม่ได้สัมผัสสินค้าและไม่สามารถต่อรองราคาเป็นธุรกิจตลาดแบบตรงที่ต้องจดทะเบียนต่อ สคบ. ซึ่งปัจจุบันธุรกิจตลาดแบบตรงขยายตัวอย่างมาก ทั้งจำนวนผู้ประกอบการและผู้ซื้อสินค้า คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะลงทุนง่าย ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายหน้าร้าน สั่งซื้อง่ายจึง มีผู้สนใจซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงมีประมาณ 1,000 บริษัท แบ่งเป็นจดทะเบียนจำหน่ายเครื่องสำอาง 376 บริษัท ทั้งรายที่ผลิตในประเทศและนำเข้า
สคบ.ได้เข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบการออนไลน์ที่ยังไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นการขายสินค้าเครื่องสำอางผ่านสื่อโซเชียล ทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และไลน์ ที่ขยายตัวมากขึ้น แต่ปัจจุบัน สคบ.ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการขายผ่านช่องทางนี้ได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่น่ากังวล และเริ่มมีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็พบว่ามีการปิดเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลออนไลน์
สัดส่วนเรื่องร้องเรียนซื้อสินค้าเครื่องสำอางออนไลน์มี 20% ของการร้องเรียนทั้งหมด อาทิ สินค้าไม่ตรงที่สั่งซื้อ ได้ของล่าช้าหรือไม่ครบ สินค้าได้รับความเสียหายจากการจัดส่ง โดยจำนวนเรื่องร้องเรียนปี 2558 มี 21 เรื่อง ปี 2559 มี 33 เรื่อง
"ผู้บริโภคควรซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ ที่มีความชัดเจน การซื้อสินค้าจากโซเชียล ตรวจสอบยาก บางครั้งมีมูลค่าไม่มาก ผู้เสียหายก็ไม่ค่อยมาร้องเรียนหรือกลัวว่าถ้ามาร้องเรียนจะตามตัวยาก เพราะเป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม พอเข้าไป ตรวจสอบก็ปิดเว็บไซต์หนี หลายราย ตามมาได้ก็บอกว่ารับจ้างเปิด หรือถูกขอ ยืมชื่อไปเปิด"
นายไพโรจน์กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและผลกระทบที่อาจส่งผล ต่อผู้บริโภคในวงกว้าง สคบ.ได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอ็ตด้า หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงไอซีที ถึงแนวทางการเข้าไปดูแล กระทรวงพาณิชย์ที่รับจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการขอเพิ่มกำลังคนจากที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 10 คนได้ขอเพิ่มอีก 26 ราย รวมทั้งการผลักดันกฎหมายให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงต้องวางทุนจดทะเบียนและวางเงินประกัน เพื่อเยียวยากรณีที่มีผู้เสียหายและเป็นการคัดกรอง ผู้ที่เข้าทำธุรกิจ
ขณะที่นางสาวชัญญาพัชญ์ ณัฐจีราวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท มิลเล่ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องสำอาง "มิลเล่" จากเกาหลีที่เข้ามาชิมลางตลาดด้วยการวางขายผ่านสื่อโซเชียล ก่อนจะกระจายเข้าช่องทางรีเทล ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เครื่องสำอางที่ขายผ่านสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ยังไม่มีการประเมินตัวเลขตลาดรวม มีทั้งผู้ขายที่เข้ามา แบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง ทำให้จัดเก็บข้อมูลยาก ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยจัดระเบียบ
สำหรับแผนธุรกิจของบริษัท ช่วงแรกเลือกวางขาย "มิลเล่" ผ่านโซเชียลออนไลน์ ก่อน เพื่อการสร้างการรับรู้ จากนั้นจึงเข้าไปจำหน่ายในช่องทางรีเทล ปัจจุบันมีช็อป 8 สาขา และเตรียมจะเปิดอีก 1 สาขา ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางมีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเคาน์เตอร์แบรนด์ 2-3 หมื่นล้านบาท--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ส.ค. 2559--