คอลัมน์: ไขปัญหาผู้บริโภค: ถกปัญหาใช้บริการสายการบิน
Source - เดลินิวส์ (Th)
Saturday, April 08, 2017 02:09
6096 XTHAI DAS V%PAPERL P%DND
โดย สคบ.
E-Mail: www.ocpb.go.th
การเลือกใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้บริการของผู้บริโภคมากขึ้นในทุกเพศวัย ด้วยปัจจัยทางด้านราคาที่มีความยืดหยุ่นสูง ความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการ ความสะดวกในการหาซื้อตั๋วเดินทางที่สามารถซื้อบัตรโดยสารได้ผ่านทางเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น และยังไม่รวมถึงโปรโมชั่นการส่งเสริมการขายที่นับเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าเลือกเดินทาง
นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในการเลือกใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำของผู้บริโภค แต่จะว่าไป...การใช้บริการสายการบินก็เริ่มมีปัญหาเพิ่มขึ้นเมื่อผู้บริโภคไม่น้อยได้รับความเสียหายและผลกระทบจากการใช้บริการเดินทางโดยสายการบินอย่างต่อเนื่อง
จากสถิติเกี่ยวกับปัญหาการให้บริการสายการบินที่มีการร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกว่า 300 รายแล้ว ส่วนใหญ่พบปัญหาความล่าช้าของสายการบิน การยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบหรือแจ้งในระยะเวลากระชั้นชิดจนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ปัญหาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในการใช้บริการสายการบิน เช่น กระเป๋าหรือทรัพย์สินสูญหาย ผู้โดยสารได้รับอุบัติเหตุบนเครื่องบิน หรือความบกพร่องของเครื่องบินในการให้บริการเรื่องความปลอดภัย รวมถึงการคิดอัตรา ค่าบริการที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ
ด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการสายการบินมาต่อเนื่อง ซึ่ง สคบ. ก็ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บมจ.ท่าอากาศยานไทย และสายการบินในประเทศ ร่วมหารือถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขเยียวยาให้ผู้บริโภค หากผู้บริโภคพบ ปัญหาเครื่องบินล่าช้า สามารถสอบถามไปยังจุดร้องเรียนของ ทอท. ที่มีอยู่ในสนามบินได้ ทั้งนี้จะได้มีการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที และสามารถลดอัตราการร้อง
เรียนที่จะมีเข้ามายัง สคบ. ได้ ในส่วนของการจองตั๋วโดยสาร หากเกิดผิดพลาด ที่ระบบการจองของสายการบิน บริษัทฯก็จะต้องคืนเงินให้โดยผ่านบัตรเครดิต ในกรณีที่มีการจองตั๋วไปแล้วไม่สามารถยกเลิกตั๋วเดินทางได้ จุดนี้ผู้บริโภคต้องดูเงื่อนไขของตั๋วที่มีการระบุไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า "ยกเลิกไม่ได้" "เปลี่ยนแปลงไม่ได้" หรือแจ้งไว้ว่าสามารถเลื่อนการเดินทางได้จนถึงเมื่อใดทั้งนี้เพื่อจะได้เลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสม
ส่วนกรณีที่กระเป๋าหรือทรัพย์สินมีการสูญหาย ผู้บริโภคตรวจสอบกับทางท่าอากาศยานไทยซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารแต่ละท่านก่อนทำการโหลด และภายหลังการโหลดว่ามีกี่ชิ้น สำหรับการเยียวยากรณีกระเป๋าสูญหายต่ำสุดอยู่ที่ 500 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 2,000 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็พบว่าสายการบินได้มีการแจ้งเตือนเรื่องความรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้โดยสารอยู่แล้ว
สคบ. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิของตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งในความปลอดภัยและการใช้บริการ รวมไปถึงให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค.--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์