เปิด10มหา'ลัย20หลักสูตร"ไร้มาตรฐาน"
Source - เว็บไซต์ไทยโพสต์ (Th)

Thursday, April 13, 2017  07:09
61741 XTHAI XEDU XHEALTH EDUH V%NETNEWS P%WTP

          สกอ.ยันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมป้องกันความเสียหายบุคคลทั่วไป
กกอ.เปิดรายชื่อ 10 มหา'ลัย พร้อม 20 หลักสูตรในที่ตั้ง ส่วนนอกที่ตั้งมี 5 มหาวิทยาลัย 78 หลักสูตร คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน "เลขาฯ กกอ." ระบุทำตาม กม.และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้องกันความเสียหายต่อบุคคลทั่วไป เตรียมรายงาน "รมว.ศธ." รับทราบ และสั่งดำเนินการต่อ ลั่นหากพบว่ายังเปิดเรียนสอนอยู่อีกก็จะต้องดำเนินการทางคดี
          นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบและขอข้อมูลในมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียนทั้ง 10 แห่ง และมีการตรวจสอบแล้ว 9 แห่ง 98 หลักสูตร ที่มีมาตรฐานหลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐานอุดมศึกษาสถาบันอุดมศึกษานั้น ที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ว่าด้วยการให้ กกอ.มีอำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิบุคคลทั่วไป ในการนี้จะระบุชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหาเรื่องหลักสูตรไม่เป็นไปตามมารตรฐานของ สกอ. หลักสูตรในที่ตั้งมี 8 มหาวิทยาลัย จำนวน 20 หลักสูตร ได้แก่ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง
          1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม, หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย, หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์, หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
          2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์และการแสดง, หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฏศิลป์ 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต 6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา และ 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
          สำหรับหลักสูตรนอกที่ตั้งมี 5 มหาวิทยาลัย 78 หลักสูตร ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร 2.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร 3.วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร 4.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร และ 5.สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชธานี ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ส่งข้อมูลตามที่ กกอ.แจ้ง โดยในที่ประชุม กกอ.วันนี้ (12 เม.ย.) จึงมีมติให้ สกอ.ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยราชธานี เพื่อส่งเอกสารเกี่ยวข้องกับหลักสูตรให้กับ สกอ.ตรวจสอบ และเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยก็ได้ติดต่อกลับมาว่าพร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ปี 2559 ซึ่งในบางมหาวิทยาลัยได้แจ้งว่าปิดบางหลักสูตรไปแล้ว ซึ่ง สกอ.จะต้องลงไปตรวจสอบในรายละเอียด และหากพบว่ายังเปิดอยู่และไม่ได้มาตรฐาน ก็จะต้องดำเนินการทางคดีต่อไป" เลขาฯ กกอ.กล่าว และว่า โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่พบคือ อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามเกณฑ์และรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ กกอ.จะต้องรายงานมติที่ประชุมพร้อมด้วยแนวทางการดำเนินการกับมหาวิทยาลัยเอกชนทั้ง 10 แห่ง ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) รับทราบและมีคำสั่งในการดำเนินการต่อไป.

          ที่มา: www.thaipost.net