นักข่าวรัฐสภาจี้'สปท.'ถอนกม.คุมสื่อล่ารายชื่อค้านตีทะเบียนแนะทบทวน-ฟังความเห็น'คณิต'อ้างยอมถอยครึ่งก้าวตัด'ใบอนุญาต-บทลงโทษ'
Source - แนวหน้า (Th)
Monday, May 01, 2017 09:05
36787 XTHAI XOTHER XFRONT XPOL XGEN DAS V%PAPERL P%NND
ยังคงมีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายและสื่อมวลชนทุกแขนงรวมพลังต่อต้าน ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ นักข่าวสภา จี้สปท.ถอนกม.คุมสื่อ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สปท. ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ออกจากระเบียบวาระการประชุม สปท. ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเสนอ โดยระบุเหตุผลว่า การที่สปท.เตรียมผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาบังคับใช้ จะส่งผล ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อรวมถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะถูกกำกับควบคุม จนมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้อย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ให้สิทธิเอาไว้
ทบทวนเนื้อหา-เปิดฟังความเห็น
อีกทั้ง โดยหลักการผลักดันกฎหมายสื่อสารมวลชนควรมุ่งคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ สร้างกลไกรักษาความเป็นอิสระของสื่อบนพื้นที่ประโยชน์ส่วนรวม ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารถูกต้อง รอบด้าน รวมถึงส่งเสริมการใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ฉะนั้นการให้ภาครัฐมีส่วนเข้ามาเป็นผู้ให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนและบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปตามร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว จึงไม่อาจเป็นร่างกฎหมายที่ยอมรับได้ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาจึงเห็นควรให้สปท.ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อทบทวนเนื้อหาและหลักการสำคัญ รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ทั้งจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และสื่อที่ปฏิบัติ หน้าที่ภาคสนามด้วย
ส.นักข่าวฯล่าชื่อยุติกม.ตีตราสื่อ
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งกระทู้เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านเว็บไซต์ change.org หัวข้อ "ยุติการพิจารณาออกกฎหมาย ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน" มีสาระสำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าว ที่กำหนดนิยามสื่อที่ต้องการปิดปากสื่ออย่างเด็ดขาด จนไม่สามารถหาข้อมูล ค้นข้อเท็จจริง การตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐ นำเสนอให้ประชาชนรับทราบได้เลย นอกจากประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงความเห็น หรือร้องเรียนความเป็นธรรมจะกลายไปเป็นนักข่าวภายใต้การดูแลขององค์กรที่รัฐสร้างขึ้นมาที่ชื่อว่า "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" ด้วย รวมถึงการที่ต้องไปขึ้นทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ หากไม่ขึ้นทะเบียนไม่มีบัตรแต่ออกไปทำข่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ ไม่เกิน 6 หมื่นบาท อัตราโทษจำคุกเท่ากับโทษในฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ซึ่งภายหลังเปิดให้" จดหมายเชิญชวนระบุ ทั้งนี้ หลังรณรงค์ผ่าน www.change.orgมีประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาร่วมลงชื่อจำนวนมาก
ปธ.สภานสพ.ไม่ร่วมสังฆกรรม
ส่วนท่าทีของนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่เนื้อหาในมาตรา 93 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสปท. วันที่ 1 พฤษภาคม กำหนดให้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติเป็น 1 ในคณะกรรมการเพื่อเตรียมจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น นับเป็นการแอบอ้างนำชื่อและองค์กรสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไปใส่ไว้ โดยไม่ได้หารือหรือได้รับความยินยอมแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการคัดค้านร่างกฎหมายเผด็จการฉบับนี้ ทางสภาการหนังสือพิมพ์ฯจะมีหนังสือแจ้งต่อ ประธาน สปท.เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการแอบอ้าง ชื่อประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมแสดงจุดยืนว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะไม่ขอร่วมสังฆกรรมในคณะกรรมการที่ว่านี้ แม้ร่างกฎหมายนี้จะผ่านออกมาก็ตาม นอกจากนี้ องค์กร อาทิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคม ผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รวมทั้งสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กำลังหารือว่าจะมีหนังสือในลักษณะเดียวกันยื่นแก่ประธาน สปท.ในวันที่ 1 พฤษภาคม เช่นกัน
แนะตอบโต้งดเสนอข่าวรัฐบาล
เช่นเดียวกับ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการชื่อดังด้านรัฐศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า มาตรการที่จะตอบโต้การเสนอกฎหมายควบคุมสื่อที่ทรงพลังที่สุดตอนนี้ ตนคิดว่า ถ้าวันที่ 1 พฤษภาคม สปท.ยังดันทุรังผ่านมติเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ก็คือการแอนตี้ไม่ยอมเสนอข่าวของแม่น้ำทั้ง 5 สายโดยเด็ดขาด ว่าแต่สื่อจะสามัคคีกันจริงจัง หรือไม่
'คำนูณ'ลั่นพร้อมซักฟอกตีตก
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.)แสดงจุดยืนต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ตนไม่เอาการบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องขออนุญาต ไม่เอาการนิยามศัพท์ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้กว้างจนรุกล้ำเข้ามาในปริมณฑลแห่งเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป โดยตนจะอภิปรายสนับสนุนให้มีกฎหมาย ว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบ ด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
พท.ซัดคุ้มครองหรือควบคุม
วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คระบุว่า "คุ้มครองหรือควบคุม" ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพฯ ที่กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มีปลัดกระทรวง 4 คน นั่งเป็นกรรมการถาวรโดยตำแหน่ง มีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คือความพยายามของเผด็จการที่จะเข้าแทรกแซงควบคุมการทำงานของสื่อ เพื่อจำกัดการรับรู้ของประชาชน บุคคลย่อม มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นวิชาชีพที่ต้องการความรู้ ความสามารถ และทักษะอย่างสูง เช่น แพทย์ วิศวกร นักบัญชี หรือทนายความ ส่วนการสื่อสารเป็นวิถีตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงไม่มีข้อจำกัดว่าต้องจบจากสาขาใด เพราะไม่ใช่วิชาชีพที่อาจ ส่งผลกระทบทันทีทันใดต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้ง ประชาชน ยังสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และมีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการทำงานของสื่อ จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจะต้องมีใบอนุญาต
'คณิต'จ่อตัดใบวิชาชีพ-บทลงโทษ
ในส่วนพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึง ก่อนการประชุม สปท.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...วันที่ 1 พฤษภาคมว่า จะหารือกับคณะกรรมาธิการฯ ให้เสนอตัดหลักการ เกี่ยวกับการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมาย เพราะหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหา และเป็นเรื่องหนึ่งที่สื่อมวลชนคัดค้าน
ลั่นพบครึ่งทางแต่คงสภาวิชาชีพฯ
สำหรับเรื่องจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน โดยให้มีกรรมการที่มาจากภาครัฐโดยตำแหน่ง 2 คน ยังคงยืนยันหลักการนี้ไว้ เพราะมองว่า ยังมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ การทำงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน แห่งชาติ
พล.อ.อ.คณิตยังกล่าวด้วยว่า ที่กังวลกันว่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงและขัดต่อความเป็นอิสระของสื่อมวลชนนั้น ตนไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะการประชุมของสภาวิชาชีพฯต้อง ใช้มติที่ประชุม ซึ่งสัดส่วนสื่อมวลชนมีมากกว่าสัดส่วนภาครัฐอยู่แล้ว อีกทั้ง ต้องเปิดเผยผลประชุมให้สาธารณะรับทราบ และย้ำว่าการถอนหลักการเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถือเป็นการเจอกันครึ่งทางแล้ว
ลั่นไม่ไว้ใจ-คงผู้แทนรัฐคุมสภาฯ
มีท่าทีของสมาคมนักข่าวฯออกมา หลังพล.อ.อ.คณิต ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชนระบุจะเสนอให้ตัดหลักการออก ใบอนุญาต และบทลงโทษออกก่อน ประชุม สปท.ในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงไว้วางใจไม่ได้ว่าการยอมตัดเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพออกแล้วมีบทบัญญัติใดมารองรับ เพื่อให้มีสภาพบังคับและมีบทลงโทษ เพราะวิธีคิดของกมธ.ชุดนี้มีเจตนาที่จะควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาตั้งแต่ต้น และประธานกมธ.ยังกล่าวอ้างว่ามีตัวแทนองค์กรสื่อสนับสนุนให้ออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและยังพูดกลับไปกลับมาตลอด
"แม้จะตัดบทบัญญัติดังกล่าวออกไปแต่โครงสร้างของกฎหมายก็ยังผิดหลักการ ที่ยังคงให้มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพฯไม่ว่าจะมีกี่คนหรือกี่วาระ ก็เท่ากับว่ารัฐยังคงมีบทบาทกำกับควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนอยู่ดี ส่วนที่อ้างความจำเป็นของตัวแทนภาครัฐนั้นก็ฟังไม่ขึ้น" นายปรัชญาชัย กล่าว
ยื่น'จ้อน'ยันถอนร่างสถานเดียว
และย้ำว่า องค์กรวิชาชีพสื่อพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปฏิรูปสื่อเพื่อให้มีกฎหมายรองรับกระบวนการพิจารณาด้านจริยธรรมที่มีสื่อมวลชนและสังคมกำกับโดยไม่มีตัวแทนภาครัฐ จึงเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนแล้วดำเนินการ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวันที่ 1 พฤษภาคม ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯจะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เพื่อให้ถอนร่างฯออกไปก่อน และจะรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนและประชาชนอย่างถึงที่สุด
'ยะใส'เตือนใช้กม.คุมสื่อไม่ได้
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯที่จะเข้าสู่การประชุม สปท.ในวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า จะสร้างปัญหาตามมามากมาย เพราะวางมาตรการคุมสื่อด้วยอำนาจรัฐมากไป ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสภาวิชาชีพที่กรรมการมาจากภาครัฐหรือการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่ต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อควบคุม วิธีคิดแบบนี้อาจจะ ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติและอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"ผมสนับสนุนการปฏิรูปสื่อ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่นำไปสู่การปฏิรูป ซ้ำยังเป็นของเสียของการปฏิรูป ด้วยซ้ำ ฉะนั้น สปท. สนช. และ ครม.ต้อง ทบทวนหาทางออกไม่ใช่ดันทุรังแบบนี้ เพราะเรื่องสื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งสื่อออนไลน์ยิ่งต้องศึกษาทำความเข้าใจให้มากอย่าไปคิดว่าออกกฎหมายควบคุมอย่างเดียวจะเอาอยู่ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด โดยเฉพาะ กลไกกำกับควบคุมสื่อต้องเชื่อมโยง กับสังคม ไม่ใช่กลไกอำนาจทางการเมืองเพราะกฎหมายฉบับนี้ถ้าไม่แก้ไขและบังคับใช้ในระยะยาวจะเป็นของหวานนักการเมืองบางกลุ่มที่พยายามควบคุมแทรกแซงสื่อและใช้สื่อเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบทาง การเมืองจนเกิดวิกฤติเหมือนที่ผ่านมา" นายสุริยะใสกล่าว--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า