กสม.ชี้ พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำละเมิดสิทธิชุมชนชัด จี้รัฐบาลแก้ปรับให้สอดคล้องวิถีไทย
Source - MGR Online (Th)
Wednesday, June 07, 2017 16:50
28428 XTHAI XPOL V%WIREL P%ASMO
กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--ASTVผู้จัดการออนไลน์
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำ ขาดการมีส่วนร่วม ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลก่อนกฏหมายบังคับใช้ ทำละเมิดสิทธิชุมชนชัด แนะ ครม. คสช. รัฐสภา แก้กฏหมายขยายเวลาแจ้งการฝ่าฝืนไป 1 ปี ให้คมนาคมแก้กฏกระทรวงให้บ้าน ศาลา สะพาน ต้องได้รับอนุญาตตามการมีส่วนร่วมประชาชน ให้ประเมินผลกระทบตาม ม.77 และปรับปรุง กม.ให้สอดคล้องวิถีชุมชน
วันนี้ (7 มิ.ย.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า จากกรณีที่ชุมชนชายฝั่ง และชุมชนริมแม่น้ำได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำ (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.เป็นต้นมา และกรมเจ้าท่าได้มีประกาศให้เจ้าของและผู้ครอบครองอาคารซึ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบที่ได้รับอนุญาต ไปแจ้งการฝ่าฝืนต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคหรือกรมเจ้าท่า ภายในวันที่ 22 มิ.ย.นั้น หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดทางอาญาและกรมเจ้าท่าอาจพิจารณาดำเนินการรื้อถอนต่อไป ส่งผลให้มีชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมแม่น้ำได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยกว่า 2 แสนรายนั้น กสม. ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ อันเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน
นางเตือนใจ กล่าวว่า ดังนั้น กสม.จึงได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย 1.ครม. คสช. และรัฐสภา ควรแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อขยายเวลาการแจ้งการฝ่าฝืน ตามมาตรา 18 ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎกระทรวง ตามมาตรา 17 เสร็จสิ้น 2.กระทรวงคมนาคม ควรเร่งแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดให้ อาคารและบ้านเรือน ศาลาริมน้ำ สะพานทางเดินลงน้ำ เป็นอาคารที่มีลักษณะและประเภทของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาตโดยต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.ครม.ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญโดยนำหลักการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment : RIA) มาเป็นเครื่องมือในการประเมินหรือวิเคราะห์ และ 4. กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเกี่ยวกับเดินเรือในน่านน้ำไทย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวมิใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ แต่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน อันได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องพิจารณากำหนดนิยามของชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำแยกออกจากสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจำแนกประเภทชุมชนดั้งเดิมออกจากการบุกรุกใหม่ รวมทั้งควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับชุมชนชายฝั่งและชุมชนริมน้ำไว้เป็นการเฉพาะ--จบ--