กกจ.ตั้งชุดสายสืบออนไลน์ เฝ้าระวังภัยกลุ่มลักลอบไปทำงานต่างประเทศพร้อมเข้มงวดตรวจสอบและระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงานที่ด่านตรวจคนหางานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
Source - สยามรัฐ (Th)
Tuesday, June 20, 2017 02:06
20071 XTHAI XINTER DAS V%PAPERL P%SRD
กรมการจัดหางาน ตั้งชุดเฉพาะกิจปราบปรามนายหน้าจัดหางานเถื่อนบนสื่อสังคมออนไลน์ เฝ้าระวังตรวจสอบผู้ที่มีพฤติการณ์ว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ สกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่คนไทยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลีปฏิเสธการเข้าเมืองเพราะต้องสงสัยว่าอาจจะลักลอบเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี(กลุ่มผีน้อย)ซึ่งอาจนำไปสู่กระบวนการลักลอบส่งคนไทยเข้าไปทำงานและแอบแฝงค้าประเวณีในสาธารณรัฐเกาหลีนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวโดยได้สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานประจำท่าอากาศยานต่างๆเข้มงวด ตรวจสอบและระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมและต้องสงสัยว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ หรือสายสืบออนไลน์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารตลอดจนแจ้งเตือนคนหางานมิให้หลงเชื่อคำคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความหรือรูปภาพชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยหากตรวจพบผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือไลน์รายใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายก็จะเก็บรวบรวมภาพหรือข้อความดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามมาตรา 30 ข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2560) คนหางานไทยที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ถูกระงับการเดินทางไปเกาหลีใต้ จำนวน 13 คน ประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุดคือบาห์เรน จำนวน 5 คนรองลงมาคือ สิงคโปร์ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โอมาน ฝรั่งเศส และรัสเซีย ตามลำดับ
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องมิให้คนหางานถูกหลอกลวงจนเสียทรัพย์สินหรือต้องไปตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน กรมการจัดหางานจึงขอเตือนมิให้ หลงเชื่อคำโฆษณากล่าวอ้างบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในประเทศต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นไลน์ หรืออีเมล เป็นต้นและขอให้ตรวจสอบ ข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนหากมีข้อสงสัยสามารถขอคำปรึกษา ร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เขตดินแดงกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2245-6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 หรือ ผ่านทางเว็บไซต์www.doe.go.th/helpme
บรรยายใต้ภาพ
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ