ฝ่าย 'บำบัดทุกข์ บำรุงสุข' และฝ่าย 'พิทักษ์สันติราษฎร์' ก็พอกัน
Source - ไทยโพสต์ (Th)
Wednesday, June 21, 2017 02:41
24475 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XGEN DAS V%PAPERL P%TPD
ถวิล ไพรสณฑ์
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญตัวแทนจาก 1.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) 3.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
เข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการทำงาน และจะส่งบัญชีโครงการให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างแห่งประเทศไทยในพื้นที่ให้รับทราบว่าแต่ละพื้นที่จะมีโครงการอะไรบ้างเพื่อความโปร่งใส
เพราะมีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 ที่รัฐบาลต้องการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมเข้าไปในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ประมาณ 75,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้หน่วยปฏิบัติคือ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานอื่น เช่น กรมทางหลวง กรมชลประทาน เป็นต้น
สำหรับในประเด็นการจัดสรรเงินงบประมาณเกือบแสนล้านบาทไปสู่พื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานครนั้น ผมเห็นด้วยในหลักการ แต่ผมเห็นว่าวิธีการปฏิบัตินั้นมีช่องโหว่ ทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณค่อนข้างมาก เพราะเป็นการจัดทำโครงการที่ค่อนข้างเร่งด่วน ไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบเหมือนโครงการปกติที่กว่าจะดำเนินการก็ต้องยื่นขอตั้งงบประมาณ มีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม ประชาชนมีส่วนร่วม ผลที่จะเกิดขึ้น มีการวางแผนและผ่านหลายขั้นตอน ตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงรัฐสภา กว่าจะผ่านเป็นงบประมาณประจำปีจึงถูกตรวจสอบมาตามลำดับขั้นตอน
ซึ่งต่างจากโครงการนี้ที่มีระยะเวลาจำกัด การดำเนินการจึงน่าจะฉุกละหุก แต่อาจจะมีบางโครงการที่เคยเตรียมการไว้ก่อนแล้วของหน่วยงานของรัฐ เช่น ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือกรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนั้นๆ เป็นต้น ซึ่งกรณีหลังนี้น่าจะไม่มีอะไรติดใจ
แต่ถ้าเป็นโครงการกลุ่มจังหวัดที่เพิ่งจัดตั้งในยุค คสช. ซึ่งต้องเป็นโครงการใหญ่ที่น่าจะเกี่ยวข้องหลายจังหวัด คำถามมีว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหรือมากกว่านั้นไม่มาก จะจัดทำโครงการใหม่ๆ ก็ไม่น่าจะทำได้อย่างแน่นอน เพราะขั้นตอนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับค่อนข้างยืดยาว
รวมทั้งโครงการที่จังหวัด หรืออำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการ ก็เชื่อได้ว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เป็นโครงการที่คิดทำในระยะสั้นๆ เมื่อมีงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐออกมา การดำเนินการก็ทำไปอย่างลวกๆ เพราะขาดเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค จึงต้องพึ่งพาจากหน่วยงานอื่น อย่างเช่น อปท. ที่มีเจ้าหน้าที่โยธา เป็นต้น
การที่ปลัดกระทรวงพยายามบอกต่อสาธารณะว่าโครงการนี้จะเชิญ ป.ป.ช., ป.ป.ท., สตง. และหน่วยงานตรวจสอบยื่นตรวจสอบตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น ผมไม่แน่ใจว่าโครงการนับแสนโครงการจะได้รับการตรวจสอบอย่างทั่วถึง จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าโครงการส่วนใหญ่จะโปร่งใส
แต่ที่ต้องถามปลัดกระทรวงก็คือว่า สัมฤทธิผลโครงการจะเกิดขึ้นจริงตามที่ให้ข่าวหรือไม่ และที่สำคัญที่ผมเป็นห่วงมากก็คือ โครงการเหล่านั้นแม้จะดำเนินการโดยโปร่งใส แต่มาตรฐานความมั่นคงยั่งยืนของโครงการจะมีความเป็นไปได้ไหม และถ้าทำไปแล้วจะมีชำรุด ต้องซ่อมแซม เอาเงินงบประมาณมาจากไหน ถ้าอำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าของโครงการที่ไม่มีงบประมาณประจำปีเหมือนหน่วยงานโดยตรงที่มีงบประมาณรายจ่ายทุกปีจะทำอย่างไร
หรือจะปล่อยเหมือนโครงการตำบลละ 5 ล้าน และหมู่บ้านละ 200,000 บาท 2 โครงการ ที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วในปีงบประมาณ 2560 โดยไม่มีการรับผิดชอบแต่อย่างใด และที่สำคัญโครงการเหล่านั้นอาจเสียงบประมาณโดยไม่คุ้มค่าก็มีจำนวนมาก
คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง และผู้รับเหมากรณีจ้างเหมานั่นเอง
ประเด็นที่ผมจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็คือ การที่พูดว่า "โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ในจำนวนกว่า 3 แสนโครงการ พบเรื่องร้องเรียนกว่า 308 โครงการ ซึ่งไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของโครงการทั้งหมด โดย 308 โครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกระทรวงมหาดไทย ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ซึ่งความเสียหายยังมีไม่มาก"
ผมไม่เข้าใจว่ามาตรการการวัดว่ามีการทุจริตหรือไม่ ใช้วัดจากการถูกร้องเรียนอย่างเดียวหรือ แล้วตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เพิ่งมีข่าวเรื่องทุจริตที่มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่า "ตำบล 5 ล้าน กินอื้อ" หรือกรณีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปกราบไหว้นายอำเภอต่อหน้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในวันประชุมประจำเดือน ขออย่าหักเปอร์เซ็นต์จากโครงการจนเป็นข่าวกระจายทั่วประเทศ กรณีนี้มีรวมอยู่ใน 308 โครงการหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่รวมด้วย เพราะประชาชนไม่ได้ร้องเรียนแต่อย่างใด และโครงการอื่นๆ ทั่วประเทศจะมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสกี่โครงการ
เฉพาะโครงการนี้ ผมได้พูดคุยกับอดีต ส.ส.หลายคน รวมทั้งคนรู้จักบ้าง เขาพูดตรงกันว่า โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท นี้ส่อไปในทางทุจริตและไม่โปร่งใสและไม่มีคุณภาพค่อนข้างมาก และที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ก็คือ โครงการก่อสร้างต่างๆ เช่น กรณีติดตั้งเครื่องน้ำดื่มสะอาดในจังหวัดหนึ่ง เพราะปรากฏว่าใช้ไปไม่นานก็ชำรุดทรุดโทรมและบางแห่งใช้การไม่ได้ และมีปัญหากรณีอย่างนี้เกิดขึ้นมากมาย และการที่ไปแยกวงเงินให้เหลือโครงการละไม่เกิน 500,000 บาท ที่ใช้วิธีตกลงราคาได้โดยไม่ต้องประมูลแข่งขัน ซึ่งน่าจะมีจำนวนโครงการมากที่สุดก็จะมีโอกาสทุจริตได้มากด้วย และแม้แต่ราคากลางในการจัดซื้อหรือการจ้างก็สูงกว่าปกติมาก เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่มีการพูดกล่าวถึงกันมาก
และใคร่ขอถามปลัดกระทรวงมหาดไทยตรงๆ ว่า โครงการที่นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าของโครงการ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบภายใต้บังคับบัญชาของนายอำเภอนั้น ใครจะกล้าร้องเรียนครับ
การทำหน้าที่ของข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการฝ่ายปกครอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าร้องเรียนหรอก เพราะเกรงกลัวในอำนาจและศักดิ์ศรีที่อยู่เหนือกว่า ความใกล้ชิดประชาชนมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง และในขณะเดียวกันงานของฝ่ายปกครองระดับอำเภอหรือจังหวัด ประชาชนไม่ค่อยทราบอยู่แล้วว่าแต่ละปีมีงบประมาณหรือโครงการอะไรบ้างที่ส่วนกลางส่งไปให้ส่วนภูมิภาคดำเนินการ ไม่เหมือนหน่วยงาน อปท. ที่ประชาชนมีความใกล้ชิดและรู้เห็นเป็นอย่างดีว่ามีงบประมาณรายจ่ายอะไรบ้างในแต่ละปี เพราะทั้งผู้บริหารและสมาชิกก็คือตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งเอง อะไรที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ ถ้าไม่ถูกต้องแล้วจะมีประชาชนร้องเรียนอยู่เสมอ
นี่คือปัญหาที่น่าสงสัยในเรื่องของการหาผลประโยชน์จากโครงการ ฉะนั้นการที่ปลัดมหาดไทยอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าประสบความสำเร็จ จึงไม่น่าจะอ้างได้เลย
ไม่มีที่ไหนหรอกครับที่มาตั้งธงเอาว่า ถ้ามีการร้องเรียนน้อยแล้วจะถือว่าไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด และยิ่งในเมื่อคนไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุค คสช.ที่มีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นใหญ่กว่าประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนคนใดจะกล้าร้องเรียน
อีกเรื่องหนึ่ง กรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกมาพูดเมื่อประมาณต้นปีนี้หลังจากได้มอบอำนาจให้ พ.ต.อ.วรวิทย์ ญาณจินดา รักษาราชการแทนผู้กำกับฝ่ายอำนวยการ 8 ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ในหัวข้อเรื่อง "ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร" เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 เนื่องจากมีเนื้อหาทำให้ประชาชนเข้าใจในทางเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง องค์กรตำรวจและตำรวจ
โดยมีคำพูดตามข่าวที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ ส่วนหนึ่งว่า "นี่ไง ไว้ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชนก็ยังย้ำอยู่เสมอว่า ตำรวจทั่วประเทศ 200,000 กว่าคน นครบาลอีก 20,000 มีตำรวจร้อยละ 99.99 เป็นคนดี ตั้งใจทำงาน---"
จากเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวก็หมายถึงว่า จากตำรวจทั้งหมด 200,000 กว่าคน พล.ต.ท.ศานิตย์เห็นว่า มีตำรวจไม่ดีเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ หรือ 22 คนเท่านั้น
ก็ขอตั้งคำถามโดยไม่หวังคำตอบว่า จริงหรือที่ตำรวจไทยมีคนไม่ดีเพียง 22 คน ถ้าเป็นจริงก็นับว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์พันลึกมากสำหรับเมืองไทย
ผมคงไม่เขียนอะไรไปมากนัก นอกจากขอฝากผู้อ่านใช้วิจารณญาณของท่านเองว่า ความจริงเป็นอย่างไรจากข่าวนี้
ข่าวตำรวจเก็บส่วย รีดไถ สั่งคดี บ่อนในท้องที่ ยาเสพติด การซื้อขายตำแหน่ง เรื่องค้ากามเด็ก ของหนีภาษี และอีกมากมายที่สื่อมวลชนออกข่าวว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง และบางกรณีก็เป็นผู้ต้องหาหรือกระทำผิดเสียเองจนเสมือนเป็นเรื่องปกติจนประชาชนชินชากับข่าวคราวเช่นนั้น
เรื่องราวทั้งหมดนี้ถ้าพิจารณาตามที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ให้ข่าวก็คงมีตำรวจเพียง 22 คน สามารถกระ ทำความผิดเหล่านั้นได้ทั่วประเทศเชียวหรือ
เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ คำขวัญที่ว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ของกระทรวงมหาดไทย และ "พิทักษ์สันติราษฎร์" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อระดับผู้บริหารขององค์กร ซึ่งน่าจะรวมบุคลากรในองค์กรนั้นด้วยมีความคิดกันอย่างนี้ โดยไม่กล้ารับความจริงตามที่เกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิรูป 2 องค์กรนี้ได้อย่างไร
มีที่ไหนครับ ทำโครงการ 300,000 กว่าโครงการ มีประชาชนร้องเรียนเพียง 308 โครงการ ซึ่งเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วประกาศว่าโครงการนี้มีผลสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปเช่นนั้น หรือกรณีที่อ้างว่าตำรวจทั่วประเทศ 200,000 กว่าคน มีตำรวจไม่ดีเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์ ก็คือเพียง 22 คนเท่านั้น
คงสรุปได้แต่เพียงว่าน่าสงสารคนไทยมากที่สุดที่ต้องอยู่ภายใต้หน่วยงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพิทักษ์สันติราษฎร์ ที่มีพฤติกรรมมิได้เป็นไปตามคำขวัญ ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันผลักดันหรือส่งเสริมให้มีการปฏิรูปทั้ง 2 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุดโดยเร่งด่วน เพื่อให้เป็นองค์กรของประชาชนเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อองค์กรของเขาเอง
นี่คือผลพวงจากระบบรวมศูนย์ที่มีมานับร้อยปี ซึ่งล้าหลังไม่สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์แล้ว.--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์