ฟ้องแพ่ง ร.พ.กรุงเทพ-พญาไท 2 สคบ. ยื่นบังคับยึดตามสัญญาเดิม
Source - สปริงนิวส์ (Th)

Monday, July 10, 2017  18:13
28105 XTHAI XECON ECO V%WIREL P%SPNO

          วันที่ 10 ก.ค. 60 — หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9-12 ก.ค. พ.ศ. 2560 สื่อในเครือ “สปริง กรุ๊ป” รายงานว่า สคบ. แจงผลงานรอบครึ่งปี มีมติยื่นฟ้องคดีแพ่ง 3 ผู้ประกอบการรายใหญ่ คือ โรงพยาบาลพญาไท 2, กรุงเทพดุสิตเวชการ และทรู ฟิตเนส หลังเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่ ไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ มีผู้มาร้องเรียน 2,417 ราย สคบ. ช่วยเจรจาได้ข้อยุติมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท
          พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาคดี กรณีผู้เสียหายจากการทำสัญญาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท 2 ในโครงการ Phyathai Ultimate Trust Card (Elite/Prime) ที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยได้ชำระค่าสมาชิกในราคา 1.5-2 ล้านบาท ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ทำการบอกเลิกสัญญา โดยอ้างว่า เป็นการเข้าข่ายสัญญาประกันภัย ซึ่งทางคณะกรรมการมีมติเห็นว่า ให้ดำเนินคดีแพ่ง แก่บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 2 จำกัด เพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาเดิม พร้อมทั้งบังคับให้ชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ทางโรงพยาบาลไม่ดำเนินการรักษาพยาบาลให้
          เช่นเดียวกับ กรณีการทำสัญญาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์กับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ บีดีเอ็มเอส ที่คณะกรรมการมีมติให้ดำเนินคดีแพ่งแก่ บริษัท กรุงเทพฯ เช่นกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่นเดิม พร้อมทั้งบังคับให้บริษัทชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เสียหายได้เริ่มทำสัญญากับโรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งแต่ปี 2544 ภายใต้โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ ที่ระบุว่า เป็นสัญญาแบบตลอดชีพ จากการชำระค่าแรกเข้าเพื่อใช้บริการเป็นทองคำหนัก 200 บาท ซึ่งการเข้าใช้บริการครั้งต่อไปจะชำระเพียง 100 บาทเท่านั้น โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้อ้างว่า สัญญาที่ทำขึ้นเข้าข่ายสัญญาประกันภัยเช่นกัน
          “กรณีโรงพยาบาลพญาไท 2 ทางโรงพยาบาลยินดีจะคืนเงินค่าสมาชิกให้พร้อมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวน 4 ราย ที่ยอมรับเงื่อนไข แต่สมาชิกอื่น ๆ ต้องการที่จะเป็นสมาชิกเพื่อใช้บริการต่อไป ส่วนกรณีโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น ทางโรงพยาบาลต้องการยกเลิกสัญญา ส่วนผู้เสียหายต้องการที่จะยังคงมีสมาชิกภาพและใช้บริการต่อไป โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้ส่งมอบให้กับอัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
          ส่วนกรณีการปิดกิจการของทรูฟิตเนสและทรูสปา ขณะนี้กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาแล้ว มีมติให้ดำเนินคดีแพ่งกับ บริษัท ทรู ฟิตเนส จำกัด, บริษัท ทรู สปา จำกัด และกรรมการบริษัท ได้แก่ นายแพทริค จอห์นวีอวี้เซง, นายอดิศักดิ์ นฤเปรมปรีดิ์, นายภานุวัฒน์ แพรัตกุล, น.ส.ศศิธร มูลใจทราย เพื่อบังคับให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย”
          นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สคบ. ยังได้ดำเนินการปราบปรามสินค้าที่มีคำสั่งห้ามขาย ห้ามให้บริการ ได้แก่ บารากู่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสามารถจับกุมผู้ลักลอบขายและให้บริการ จำนวน 48 แห่ง ประกอบด้วย ร้านให้บริการสินค้าบารากู่ 28 แห่ง, ร้านขายบารากู่หรือบุหรี่ไฟฟ้า 20 แห่ง โดยสามารถตรวจยึดเตาบารากู่ได้ 518 เตา, สายดูด 489 สาย, ตัวยาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 449 ชิ้น และตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าได้ 540 อัน, น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 5,777 ขวด, อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 561 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางกว่า 4 ล้านบาท
          ส่วนผลการดำเนินรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 3 ปี งบประมาณ 2560 ช่วงเดือน เม.ย. ถึงเดือน มิ.ย. มีเรื่องร้องทุกใน 3 ประเภทหลัก จำนวน 2,417 เรื่อง ได้แก่ ประเภทสินค้าอุปโภคและบริโภค จำนวน 617 เรื่อง, ประเภทบริการ จำนวน 974 เรื่อง, ประเภทอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 826 เรื่อง ขณะที่ การแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค สคบ. สามารถดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยได้ข้อยุติ รวม 225 ราย คิดเป็นเงินกว่า 13.13 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านโฆษณา 16 ราย มูลค่า 1.83 แสนบาท ด้านฉลาก 13 ราย มูลค่า 4.68 หมื่นบาท และด้านสัญญา จำนวน 192 ราย มูลค่า 12.9 ล้านบาท

          ที่มา: www.springnews.co.th