ชี้ค้าออนไลน์เอาเปรียบ เร่งรัฐคุ้มครองผู้บริโภค
Source - เดลินิวส์ (Th)
Tuesday, September 05, 2017 05:27
4979 XTHAI XECON MIDD DAS V%PAPERL P%DND
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 60 ว่า ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดทำแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจนำแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจีซีพี มาปรับใช้ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการงานร่วมกันต่อไป
สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ก้าวทันโลกดิจิตอลนั้น สศช.เห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่หันมาให้ความสำคัญ และที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ ทำให้ในการประชุมกลุ่มประเทศจี 20 ได้นำแนวทางของยูเอ็นจีซีพี ที่มีงานต้องทำหลายเรื่องมาศึกษาและพัฒนาตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ เช่น การมีหน่วยงานรับผิดชอบด้านความปลอดภัย หรือมีหน่วยงานทำหน้าที่สร้างเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคด้านดิจิตอล การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการผลิตก่อนผลิตสู่ตลาด หรือการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภคด้านดิจิตอล เป็นต้น ซึ่งไทยเองก็ควรนำตัวชี้วัดดังกล่าว มาปรับใช้ พร้อมกับจัดทำแผนงานพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติด้วย
นายปรเมธี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับดิจิตอลของไทยได้มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 60 มีเรื่องร้องเรียนด้านบริการกิจการโทรคมนาคม จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. มากถึง 749 เรื่อง แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อน 27.1% แต่ก็ยังเป็นอัตราที่สูง โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งเรื่องของมาตรฐาน และคุณภาพการบริการ บริการเสริม การยกเลิกบริการและคิดค่าบริการผิดพลาด ส่วนสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากสินค้าและบริการของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ยังมีมากถึง 2,807 ราย เพิ่มขึ้นถึง 65% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องด้านสัญญาต่างๆ ที่ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม
ส่วนความเคลื่อนไหวทางสังคมด้านอื่นๆ ที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ยังพบว่า ในเรื่องของการจ้างงานนั้น มีการจ้างงานทั้งสิ้น 37.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.4% เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 6.3% มาอยู่ที่ 11.6 ล้านคน จากเดิม 11 ล้านคน หลังจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกดีขึ้นจนจูงใจให้เกษตรกรขยายงานและมีการจ้างงานเพิ่ม ส่วนจ้างงานนอกภาคเกษตร ลดลง 2.1% จาก 26.4 ล้านคน เหลือ 25.9 ล้านคน โดยเป็นการลดลงในสาขาอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และโรงแรม และภัตตาคาร โดยแนวโน้มทั้งปี การจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่การว่างงาน พบว่า มีผู้ว่างงาน 470,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันชปีก่อน โดยมีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มสูงขึ้น 24.1% เนื่องจากเป็นช่วงจบการศึกษาและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนที่ 39% มักจะไม่ตัดสินใจทำงานในทันที เพราะรอดูหลังจากเรียนจบประมาณ 2-3 ไตรมาสก่อนที่จะสมัครทำงาน เลือกงานมากขึ้น อีกส่วนเป็นเพราะความไม่สอดคล้องของคุณสมบัติของแรงงานและวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด.
บรรยายใต้ภาพ
ปรเมธี วิมลศิริ
--จบ--
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--