ส.ขายตรงไทยลงนาม สคบ.-สำนักงานคุณวุฒิยกมาตรฐานวิชาชีพขายตรงยกระดับวิชาชีพขายตรง 4.0
Source - มติชนออนไลน์ (Th)

Monday, August 21, 2017  16:03
2239 XTHAI XECON ECO V%WIREL P%MTCO

          นายสมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย เปิดเผยในงานอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรง ครั้งที่ 7 ว่า สมาคมได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคุณวุฒิวิชาชีพ ในการวางกติกากรอบการทำงานให้ธุรกิจขายตรงเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพ โดยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ภายใต้ข้อสรุปร่วมกันว่า สคบ.จะเป็นที่ปรึกษาโครงการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะทำเรื่องวิชาการ โดยว่าจ้างสถาบันการศึกษามาช่วยดำเนินการ และดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย อาจเป็นสมาคมด้านขายตรงซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาด รวมทั้งบริษัทขายตรงต่างๆ
          นายสมชายกล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ร่วมกันวางกรอบกติกามาตรฐานที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด และนำไปเทียบเคียงกับมาตรฐานขายตรงของต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป และสิงคโปร์ เพื่อนำมาเป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานขายตรงไทย คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณปีครึ่ง จะพร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นอาชีพที่มีมาตรฐานในสายงานขายตรง เช่นเดียวกับการดำเนินการของแพทย์สภา และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
          นายสมชายกล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทขายตรงที่ขึ้นทะเบียนกับ สคบ.จำนวน 1,414 ราย เป็นบริษัทที่แอคทีพดำเนินการต่อเนื่อง 1,196 ราย ส่วนตลาดแบบตรงมี 492 ราย ปัจจุบันเหลืออยู่ 490 ราย ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สคบ.รับจดทะเบียนให้บริษัทขายตรงรายใหม่ 39 ราย ถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2559 มีจำนวน 90 ราย มูลค่าตลาดขายตรงจากที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีตัวเลขที่ส่งงบในปี 2559 มูลค่า 70,300 ล้านบาท ตลาดทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ตลาดรวมมีมูลค่า 70,342 ล้านบาท ธุรกิจขายตรงมีผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ซื้อสินค้าใช้เอง 7 ล้านคน ในแต่ละปีจะมีผู้บริโภคและผู้ที่ต้องการทำธุรกิจขายตรงเข้ามาใหม่ เฉลี่ย 1.8 ล้านคน ส่วนคนที่ทำธุรกิจขายตรงมี 3 ล้านคน เป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจจริง 1.2 ล้านคน
          “ปัจจุบันมูลค่าตลาดขายตรงอยู่ที่ 70,300 ล้านบาท จากมูลค่าค้าปลีกทั้งระบบอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท มีผู้ดำเนินธุรกิจมากกว่า 1.2 ล้านคน ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจขายตรงต้องปรับตัว ยกระดับตัวเองให้สามารถทำตลาดในยุค 4.0 ให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ทำอย่างไรที่จะยกมาตรฐานขีดความสามารถ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินธุรกิจ รวมถึงการจัดสัมมนาอบรมมาตรฐานวิชาชีพขายตรง จะทำให้นักขายตรงได้เรียนรู้ทักษะด้านการตลาดและการบริหารจัดการ สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ 4.0 ที่มีศักยภาพ สู่เป้าหมายทำงานน้อยได้ผลตอบแทนมาก
          “ขายตรงแตกต่างกับแชร์ลูกโซ่ ตรงที่ขายตรงมีการจดทะเบียนธุรกิจกับ สคบ. และแตกต่างจากโมเดิร์นเทรดที่การขายตรงกระจายสินค้าโดยตรงและมีการจ่ายผลตอบแทน” นายสมชาย กล่าว และว่า ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงมาก เป็นโลกไร้พรมแดน โลกการค้าเสรี ถ้าเราจะยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ต้องมีกฎกติการะเบียบมาเป็นแนวทางร่วมพัฒนา ที่จะทำให้นักธุรกิจขายตรงเดินไปตามกติกา และมีเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ ร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจ
          ด้านพลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพจะช่วยให้ธุรกิจขายตรงให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีคุณภาพ สร้างความภูมิใจในวิชาชีพขายตรง ซึ่งผลักดันให้มูลค่าตลาดรวมขายตรงไปถึง 1-2 แสนล้านบาทต่อปีได้ในอนาคต อีกแนวทางหนึ่ง การออกบัตรประจำตัวให้กับวิชาชีพขายตรง ซึ่ง สคบ.ได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะมากำหนดแนวทางมาตรฐานวิชาชีพขายตรงอย่างไร มีการทดสอบทั้งมาตรฐาน จรรยาบรรณ และความรู้ด้านกฎหมาย กิริยามารยาท แต่วิชาชีพนี้ต้องการให้มีความอิสระ ไม่เข้มข้นว่าทุกคนต้องมีบัตรประจำตัว ไม่มีแล้วเข้าไม่ได้ คาดว่าปีหน้าจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย

          ที่มา: www.matichon.co.th