คกก.ปฏิรูป ตร.ชงปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวนให้มีอิสระ เลื่อนตำแหน่งได้จนถึง ผบ.ตร.
Source - มติชนออนไลน์ (Th)
Tuesday, December 05, 2017 11:54
65143 XTHAI XPOL POL V%WIREL P%MTCO
คกก.ปฏิรูป ตร. เห็นชอบหลักการกำหนดโครงสร้างตำแหน่ง พนง.สอบสวน 3 ข้อ หวังให้เกิดความเท่าเทียม-เสมอภาคกับตำรวจทุกสายงาน
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารสังคม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเดินหน้าเสนอปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวนให้มีอิสระ ปูทางความก้าวหน้าให้สามารถเลื่อนตำแหน่งได้จนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หวังจะให้ผู้มีความรู้ความสามารถด้านนิติศาสตร์ และการพิจารณาอรรถคดีมาร่วมงาน ในขณะที่มีอัตราพนักงานสอบสวนว่างทั่วประเทศ 1,632 ตำแหน่ง เพราะตำรวจ เซ็ง ขอโอนย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่นเรื่อยๆ ตามที่มีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้พิจารณาทบทวนแนวทางการปฏิรูปตำรวจโดยแยกภารกิจด้านงานสอบสวนออกมาให้ชัดเจน โดยอาจให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์และการพิจารณาอรรถคดีมาปฏิบัติหน้าที่ในงานสอบสวนได้นั้น
นายมานิจกล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ได้มีมติให้กำหนดโครงสร้างตำแหน่งพนักงานสอบสวนจาก 3 หลัก คือ 1.สร้างความชำนาญเฉพาะด้านโดยต้องการให้ทำงานสอบอย่างต่อเนื่องไม่ย้ายไปมา ระหว่างงานที่แปลกแยกไปจากงานสอบสวน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่สั่งสมอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้มีผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการสอบสวนคดีที่ยุ่งยากซับซ้อน 2.ให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงานโดยปราศจากการแทรกแซง สั่งการทั้งทางตรงและทางอ้อม จากผู้ที่ไม่มีส่วนกี่ยวข้อง จึงเน้นการมีความเห็นทางคดี ในส่วนของการสอบสวนคือเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในสายงานเท่านั้น และเพิ่มให้มีอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้มีความคล่องตัว และเป็นพนักงานสืบสวน และสอบสวนในตัวคนเดียวกัน และ 3.ให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานสายอาชีพ
คณะอนุกรรมการฯเห็นว่าเมื่อมีงานสืบสวนและงานสอบสวนมารวมกัน แล้วให้เรียกว่า งานสืบสวนสอบสวน และยังคงอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยให้ตำแหน่งของพนักงานสืบสวนสอบสวนทั้งที่อยู่ในสถานีตำรวจระดับจังหวัดและระดับภาคสามารถเจริญเติบโตไปได้ถึงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในสายงานสืบสวนสอบสวนและมีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ ดังนั้น พนักงานสืบสวนสอบสวนจะมีความก้าวหน้าในเส้นทางการเจริญเติบโต จนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เช่นเดียวกับตำรวจในสายงานอื่นๆ อันจะทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสายงานตำรวจทุกสายงาน ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันมีความขาดแคลนพนักงาน นายมานิจกล่าว
นายมานิจกล่าวอีกว่า ในเรื่องความรับผิดชอบของหัวหน้าสถานีตำรวจนั้น คณะอนุกรรมการฯมีข้อเสนอว่าให้หัวหน้าสถานีตำรวจและหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยให้หัวหน้าสถานีตำรวจ ยังคงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการ กับทั้งกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้มีความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยหากมีความเห็นแย้งกันเกี่ยวกับความเห็นทางคดี ระหว่างหัวหน้าสถานีตำรวจและหัวหน้างานสืบสวนสอบสวน ในแต่ละสถานีตำรวจจะกำหนด นอกจากนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาในตำแหน่ง ผู้บังคับการ เป็นผู้ชี้ขาด แม้ว่าหัวหน้าสถานีตำรวจจะมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลสายงานสืบสวนสอบสวนแต่ก็ไม่สามารถเข้ามาบงการผลแห่งคดีได้ และมิให้หัวหน้าสถานีเรียกคืนหรือโอนสำนวนคดีไปให้พนักงานสอบสวนคนอื่นทำ เว้นแต่การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคนนั้นจะล่าช้า หรือมีข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสายงานสืบสวนสอบสวนคนนั้นทำบันทึกเห็นชอบและให้ทำได้
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ คณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบในหลักการ และเมื่อแก้ไขในรายละเอียดบางประเด็นแล้ว จะได้นำไปถามความเห็นผู้เกี่ยวข้อง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 77 กำหนดไว้ก่อนส่งต่อไปให้รัฐบาลดำเนินการเข้าสู่กระบวนการบัญญัติเป็นกฎหมายต่อไปหากเห็นชอบ นายมานิจกล่าว
ที่มา: www.matichon.co.th