รื้อระบบร้องทุกข์ยธ.อุดช่องโหว่'แพะ'เป็น'แกะ'
Source - คมชัดลึก (Th)

Monday, December 04, 2017  05:36
53956 XTHAI XETHIC DAS V%PAPERL P%KCL

          ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย
          กระแสตีกลับในการรื้อฟื้นคดีอาญาให้ "ครูจอมทรัพย์"ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อภารกิจช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมหรือช่วยแพะในคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรม
          เป็นเหตุให้ "วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ"ปลัดกระทรวงยุติธรรม ต้องเข้ามาจัดวางงานให้เป็นระบบ แม้ "ศูนย์บริการร่วม" (ศบร.) ของกระทรวงยุติธรรม จะถูกจัดตั้งขึ้นมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติที่เคยทำกันมาไม่เคยมีการวางระบบ ทำให้การร้องทุกข์ร้องเรียนมาได้สารพัดช่องทาง ทั้งจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งบางแห่งใช้หัวกระดาษ "ศบร." เหมือนกันเป๊ะ แต่เลขรับไม่อยู่ในสารบบเดียวกัน
          ไม่นับรวมการร้องขอความเป็นธรรมที่ขึ้นตรงไปยังสำนักงาน พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ250 เรื่อง ก่อนกระจายงานให้ชุดเฉพาะกิจไปสืบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง ซึ่งใช้ทั้งเครื่องจับเท็จ นิติวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคล
          จากข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่า การทำงานของทีมเฉพาะกิจ "ดุษฎี" ประสบความสำเร็จในภารกิจช่วย "แพะ" พ้นคุกมาหลายเรื่อง
          ไม่ว่าจะเป็นคดีดีเจปุ๊วอร์มอัพ ต้องโทษ ฆ่าแฟนสาว, คดีแพะชิงเพชร, คดีโจ๋อุบลต้องโทษยิงคนตาย, คดีชิงพระเลี่ยมทอง ซึ่งพบข้อผิดพลาดในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนทั้งสิ้น แม้แต่คดีบุกรุกที่ดินของผู้อื่นซึ่งศาลสั่งให้จำเลยออกจากที่ดินแล้ว ชุดเฉพาะกิจก็ยังรวบรวมหลักฐานจนศาลฎีกายกฟ้อง ให้เจ้าของที่ดินตัวจริงได้อยู่ในที่ดินของตัวเองได้ต่อไป    แต่เมื่อ "คดีครูจอมทรัพย์" พลิกจาก "แพะ" กลายเป็น "แกะ" เจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมถูกครหาว่าร่วมอยู่ในขบวนการรับจ้างติดคุก ในทางคดีจึงต้องแก้กันไปด้วยพยานหลักฐาน แต่ในทางระบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทบทวนการทำงาน ปล่อยให้เดินไปลำพังไม่ได้ จึงต้องวางระบบให้การทำงานผ่านการกลั่นกรองและร่วมตัดสินใจในรูปคณะกรรมการชุดใหญ่
          นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมยังตรวจสอบพบช่องว่างในจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งหลายแห่งใช้พนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นผู้รับเรื่อง โดยในจุดนี้หากปล่อยไว้อาจเป็นช่องว่างเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจากเงินค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ซึ่งเจ้าพนักงานในแต่ละจุดอาจมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนทนายแล้วเจาะจงจ่ายสำนวนไปให้หรือนำรายชื่อทนายที่มีความใกล้ชิดมาขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนยุติธรรมเพื่อรับคดี
          เมื่อพบปัญหาจึงจำเป็นต้องจัดรูปงานให้เป็นระบบจากเดิมที่เคยมี "พ.ต.อ.ดุษฎี"กำกับดูแล ก็เปลี่ยนมือไปให้ "ธวัชชัย ไทยเขียว" ล่าสุดภายในสัปดาห์เดียวกัน ปลัดกระทรวงยุติธรรมตัดสินใจเข้ามาควบคุมดูแลงานในส่วนนี้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ทุกเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียน ซึ่งเดิมกระจายเป็นหลายช่องทาง เช่น ร้องตรงกับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ รองปลัดกระทรวง หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากนี้ทุกเรื่องต้องเดินตรงมาที่ "ศบร."จุดเดียว เพื่อออกเลขรับ กลั่นกรองเรื่องราว ก่อนจ่ายเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของความเดือดร้อนและการให้ความช่วยเหลือทั้งประเทศ
          ทั้งนี้ภายหลังรับเรื่องร้องทุกข์ ศบร.จะส่งเรื่องให้ฝ่ายเลขาฯ กลั่นกรอง หากเป็นคดีทั่วไปสามารถให้คำปรึกษากฎหมายหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ก็สั่งยุติเรื่อง หากเป็นข้อร้องเรียนทั่วไปไม่สลับซับซ้อน จะรับเรื่องไว้ดำเนินการช่วยเหลือเป็น ขั้นตอนปกติ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน กระทบกับหน่วยงานอื่น จำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วย ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการ 4 คณะเพื่อกลั่นกรอง รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ก่อนเสนอ ให้คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ตัดสินใจเป็นที่สุดว่าจะอนุมัติการช่วยเหลือแค่ไหน อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเชื่อมโยงกับ "ศูนย์ดำรงธรรม" และ "คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์" สำนักนายกรัฐมนตรี
          สรุปใจความ คือ กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถปฏิเสธเรื่องราวทุกข์ร้อนของประชาชนเพราะมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ขณะที่ตำรวจมีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม ประชาชนจึงสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรมได้เป็นปกติ
          แต่เมื่อพบปัญหาโดยเฉพาะการรื้อฟื้นคดีอาญา ซึ่งสถิติของศาลยุติธรรมบ่งชัดว่า นับจากกฎหมายเปิดช่องให้รื้อฟื้นคดี ยังไม่เคยมีการรื้อฟื้นคดีสำเร็จเกิดขึ้นเลย ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือจึงต้องยืดกระบวนการให้ยาวเพื่อเพิ่มความเข้มข้น โดยกำหนดให้ผ่านการกลั่นกรอง เดินไปตามลูกศรเป็นลำดับขั้น 1, 2, 3 เป้าหมายปลายทางยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนเหมือนเดิม แต่ปิดช่องไม่ให้มีการพูดชี้นำ จนเกิดกระแสสังคมให้ผูกมัดตัวเอง
          คำถามคือวันนี้ สังคมคิดว่าแพะมีจริงหรือไม่ ถ้าคิดว่าแพะมีอยู่จริง ก็ต้องดูว่าจุดอ่อนของกระบวนการอยู่ที่ไหน เพื่อดับทุกข์ที่เหตุ ป้องกันไม่ให้มี "แพะ" ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ปล่อยให้สุดทางแล้วมาที่กระทรวงยุติธรรม กฎหมายอนุมานว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงทุกคนรู้กฎหมายหรือ
          หลังจากนี้ยังต้องรอฟังนโยบายชัดๆ จาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.ยุติธรรมคนใหม่  ซึ่งคงมีคำตอบว่าการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของ "ศูนย์บริการร่วม" (ศบร.) กระทรวงยุติธรรม สุดท้ายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก