โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค : การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการของประชาชนระดับล่าง
Source - สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (Th)

Friday, October 08, 2004  13:16
29134 XTHAI XECON XCORP XHEALTH XGEN V%GOVL P%NESA

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค : การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการของประชาชนระดับล่าง

          โดยเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการได้รับบริการด้านสุขภาพโดยเท่าเทียมและทั่วถึง และเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้พัฒนาขึ้นยังไม่สามารถบรรลุถึงสิทธิและหน้าที่ของประชาชนดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การพัฒนาคุณภาพบริการ การจัดสรรงบประมาณ และ ความไม่เสมอภาคของการกระจายบุคลากร และสถานบริการ ดังต่อไปนี้
          1.1.   การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
                 เพื่อเป็นหลักประกันในการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ รัฐต้องเร่งพัฒนากลไกเชิงโครงสร้าง ดังนี้
                    1.1.1.  กลไกการมีส่วนร่วมใน “การบริหารจัดการโครงการหลักประกันสุขภาพ“
                            กำหนดบทบาทของภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการโครงการหลักประกันสุขภาพ  ในรูปของคณะกรรมการระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
                    1.1.2.  กลไกการมีส่วนร่วมใน “การดำเนินการจัดการด้านสุขภาพของชุมชนในระบบหลักประกันสุขภาพ”
                            สร้างการมีส่วนร่วมใน “การดำเนินการจัดการด้านสุขภาพของชุมชน” โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นและ/หรือองค์กรชุมชน ควรให้มีทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ การดำเนินการสร้างสุขภาพของชุมชน การจัดหาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการให้บริการ ในการศึกษานี้พบตัวอย่าง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณการจัดบริการส่งต่อผู้ป่วยจากชุมชนไปยังสถานพยาบาล การจัดงานผ้าป่าระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี การส่งนักเรียนในพื้นที่ไปเรียนพยาบาลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วให้กลับมาปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ สนับสนุนให้ชุมชนได้รวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
                    1.1.3.  กลไกเชิงรุกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
                            สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสุขภาพระดับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถจัดโครงการเชิงรุกเพื่อการส่งเสริมสุขภาพได้เอง
                    1.1.4.  กลไกการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบร้องทุกข์ภาคประชาชน
                            สนับสนุนระบบร้องทุกข์โดยภาคประชาชนจัดขึ้นเอง ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิของประชาชนผู้เดือดร้อน เกิดความเป็นธรรม ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับบริการ แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด และรวดเร็ว ทั้งยังจะเป็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่หาคนผิด ทำให้เกิดการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันการ ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหา โดยหน่วยบริการและผู้รับบริการมีกลไกร่วมกันพูดคุยชี้แจงแก้ปัญหาระดับพื้นที่ ทำให้ปัญหาไม่ต้องมาถึงในระดับส่วนกลาง
                    1.1.5.  กลไกการมีส่วนร่วมในการรับข้อมูลข่าวสาร
                            ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทันเหตุการณ์ ผ่านทางสื่อ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หาช่องทางกระจายข้อมูลผ่านสื่อที่เข้าถึงประชาชน ไม่ใช่ส่งข้อมูลจากส่วนกลางด้วยรูปแบบเดียวทั้งหมด ลักษณะของสื่อ ประกอบด้วย การใช้สื่อชุมชน และสื่อพื้นบ้าน สื่อบุคคล การจัดเวที พูดคุยผ่านแกนนำ เป็นต้น
                    1.1.6.  กลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่มเฉพาะ
                            สร้างกระบวนการให้กลุ่มผู้มีสิทธิที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เข้ามาเสนอความต้องการ และความคิดเห็นในทางปฏิบัติ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับลักษณะของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ควรกำหนดให้มีผู้แทนของภาคส่วนเหล่านี้เป็นกรรมการของระบบหลักประกันสุขภาพในระดับต่างๆ ด้วย
          1.2.  การพัฒนาคุณภาพบริการโดยเฉพาะหน่วยบริการปฐมภูมิ
                การพัฒนาคุณภาพคุณภาพบริการของหน่วยบริการทุกระดับเป็นงานต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นความสำเร็จในการให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิที่ครอบคลุมประชากร ทั้งนี้ไม่ควรจำกัดเพียงบริการที่เป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน  จึงควรดำเนินการดังนี้
                    1.2.1   สนับสนุนให้มีโครงการนำร่องพัฒนารูปแบบหน่วยบริการปฐมภูมิ  โดยเฉพาะ การให้บริการในโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ควรพิจารณาถึงรูปแบบที่มีการผสมผสานการแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทยเข้าไปในระบบบริการ ซึ่งตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2545 ได้มีประกาศของคณะกรรมการหลักประกัน เรื่องการบริการการแพทย์แผนไทย ให้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลด้วยบริการการแพทย์แผนไทยไว้แล้ว แต่ไม่พบรูปธรรมการสนับสนุนที่ชัดเจน
                    1.2.2   จัดทำมาตรฐานการให้บริการทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ทางเลือก และแพทย์แผนไทย ในโครงการหลักประกันสุขภาพที่ชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
                    1.2.3   พัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่เน้นการพัฒนาระบบจัดการสุขภาพของชุมชน ครอบคลุม การส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนเป็นที่พึ่งของชุมชนด้านสุขภาพ
                    1.2.4   จัดให้มีระบบการนำส่งผู้ป่วยจากชุมชนมายังโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและทันการ อาจมีการจัดสรรงบดำเนินการเพื่อให้ชุมชนจัดการเอง โดยไม่จำเป็นต้องจัดหารถและอุปกรณ์ของโรงพยาบาล
          1.3   การจัดสรรงบประมาณ
                การจัดสรรงบประมาณถือเป็นกลไกที่สำคัญในการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งหลักการของระบบประกันสุขภาพสำหรับประชาชนนั้น เป็นหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการไม่ว่าจะอยู่ในที่ห่างไกลก็ตาม จึงจำเป็นต้อง
                    1.3.1   ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามรายหัวของผู้รับบริการ และส่งงบทั้งหมดลงไปให้ถึงหน่วยให้บริการในระดับจังหวัด นั่นคือเป็นไปตามปีงบประมาณ 2544 – 2545 และในระยะต่อไปควรจัดสรรงบประมาณโดยตรงถึงระดับพื้นที่ ทั้งนี้หลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายหัวต้องพิจารณาเพิ่มเติมปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น พื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง เป็นต้น
                    1.3.2   จัดให้มีกองทุนฉุกเฉิน (Contingency Fund, CF) เพื่อใช้ในการปรับช่วยด้านงบประมาณสำหรับจังหวัดที่มีบุคลากรต่อประชากรมาก
                    1.3.3   พัฒนาระบบฐานข้อมูลโดยเฉพาะบัญชี และฐานข้อมูลการให้บริการ เพื่อใช้คำนวณด้นทุนค่าใช้จ่ายต่อรายที่สถานพยาบาลแต่ละระดับใช้จ่ายจริง
                    1.3.4   พัฒนาระบบการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงาน เช่น งบส่งเสริมสุขภาพควรจัดสรรงบโดยตรงลงไปที่สถานีอนามัย และ/หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบรักษาพยาบาลจัดสรรไปยังสถานพยาบาล เป็นต้น
          1.4   การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคของการกระจายบุคลากรและสถานบริการ
รัฐบาลควรจัดตั้งคณะทำงานติดตามสภาพปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำของการกระจายบุคลากรสาธารณสุขต่อประชากร ระบบการจัดสรรงบประมาณและวิธีการเบิกจ่าย และการกระจายสถานพยาบาล เพื่อการแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคนี้ ซึ่งในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำอย่างมากของการกระจายตัวของบุคลากรและสถานบริการที่ไม่สมดุลระหว่างพื้นที่ยังดำรงอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากระบบการจัดสรรงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงความไม่เสมอภาคที่มีอยู่เดิม

          ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ         

          www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9