พบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเข้า20ล้าน-ปปง.ยอมรับอายัดไม่ได้สกัดฟอกเงินผ่าน'บิทคอยน์'
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Tuesday, January 30, 2018  06:10
34374 XTHAI XOTHER XFRONT XECON DAS V%PAPERL P%KT

          ภาคธุรกิจชี้ "ไอซีโอ" ไม่เหมาะกับไทย  ทั่วโลกเร่งคุมเงินดิจิทัล
          กรุงเทพธุรกิจ ตำรวจหารือกลุ่มบริษัททำธุรกรรมบิทคอยน์ วางมาตรการสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังพบ 90% โอนเงินเข้า บิทคอยน์ มูลค่ากว่า 20 ล้าน ปปง. ยอมรับกฎหมายไทยยังเอื้อมไม่ถึง ส่งผลอายัดเงินในบิทคอยน์ไม่ได้ ด้าน วงการธุรกิจ มอง "ไอซีโอ" มีประโยชน์ แต่ยังไม่เหมาะกับไทย เหตุกฎหมายไม่รองรับ ขณะ ทั่วโลก เร่งออกเกณฑ์คุมซื้อขายเงินดิจิทัล
          พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศป.ฉปทน.) ประชุมหารือหามาตรการป้องกัน ระงับยับยั้งการทำ ธุรกรรมของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะนี้ ร่วมกับพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (รอง ผบช.ทท.) นายศิวัช ชาวบางนา ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) นายธานี โอฬารรัตน์มณี ผู้อำนวยการกองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมธุรกิจการค้า  นายเดวิด บาร์น กรรมการผู้จัดการ บริษัทบิทคอยน์จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ กล่าวว่าตำรวจได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกรรมให้บริการเกี่ยวกับสกุลเงินบิทคอยน์ ที่ผ่านมาพบว่า มีมากถึง 90%  ที่เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเงินจากการกระทำผิดเข้าสู่ระบบบิทคอยน์ มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 20 ล้านบาท เนื่องจากช่องทางนี้ยากต่อการตรวจสอบการทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์ เพราะกฎหมายในไทย ยังไม่รองรับสกุลเงินบิทคอยน์ ตำรวจยังส่งข้อมูลบัญชีบุคคลต้องสงสัยในแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนหนึ่ง ให้ตัวแทนบริษัทไปตรวจสอบว่า มีการทำธุรกรรมในบริษัทหรือไม่ อนาคตจะเก็บรวบรวมฐานข้อมูลบริษัทที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งพบว่ายังมีอีกจำนวนมากจงใจจดทะเบียนการค้าโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          ปปง.รับก.ม.ยังไม่รับรองบิทคอยน์
          นายศิวัช ชาวบางนา ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ ป.ป.ง. ยอมรับ การทำธุรกรรมผ่านบิทคอยน์ กฎหมายของ ป.ป.ง.ยังไม่สามารถเข้าไปอายัดทรัพย์ได้ เพราะกฎหมายไทยยังไม่รับรองสกุลเงินนี้ จึงไม่เข้ามูลฐานความผิดฟอกเงิน ดังนั้น ป.ป.ง.อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ทันยุคสมัย
          พร้อมให้ตรวจสอบข้อมูล
          นายสิริคุณ ไตรวิทยาคุณ ตัวแทนบริษัท คอยน์ ทีเอช จำกัด ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล หรือ บิทคอยน์ ยืนยันว่า มีข้อมูลผู้ใช้บัญชีบิทคอยน์อยู่ในฐานระบบบริษัท สามารถตรวจสอบประวัติและการทำธุรกรรมของเจ้าของบัญชีได้ แต่หากเจ้าของบัญชีไปลงทะเบียนไว้กับบริษัท หรือเว็บไซต์ต่างประเทศจะไม่สามารถตรวจสอบได้
          แต่ทั้งนี้บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือหากตำรวจต้องการข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องในการเปิดบัญชีบิทคอยน์ผ่านบริษัท หรือ ตัวแทนในไทย
          ส่วนความคืบหน้าการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญเงินดิจิทัลแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอซีโอ) นั้น ทางภาครัฐอยู่ระหว่างเตรียมหาข้อสรุปเพื่อกำหนดท่าทีต่อการทำไอซีโอและเงินดิจิทัลภายในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทั้ง 3 แนวทาง คือ 1.ห้ามไม่ให้ซื้อขายเลย 2.ไม่มีการกำกับดูแล และ 3.กำกับดูแลแบบปานกลางในระดับที่เหมาะสม
          'ไอซีโอ'ยังไม่เหมาะกับไทย
          ด้านแหล่งข่าวในวงการที่ปรึกษาธุรกิจ กล่าวว่า การระดมทุนผ่านไอซีโอ ด้วยรูปแบบแนวคิดถือว่ามีประโยชน์เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุนที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ไม่ว่าใครก็สามารถระดมทุนได้ โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานกลางอย่าง ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)  ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลและบริษัทที่สนใจเข้ามาระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ขาดเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน
          อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้ยังไม่ควรมีการระดมทุนผ่านไอซีโอในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะเข้ามากำกับดูแลทำให้นักลงทุนต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมดและอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่จะใช้ช่องว่างตรงนี้เข้ามาทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน
          "ไอซีโอแม้ว่าจะดีแต่อาจจะยังไม่เหมาะกับประเทศไทยตอนนี้ เพราะเรายังไม่มี หน่วยงานที่จะเข้ามากำกับดูแลถ้าเงินหายหรือถูกหลอกนักลงทุนก็ต้องรับความเสี่ยง เองหมด และถ้าดูจากโครงสร้างแล้วเรายังมีช่องว่างอีกเยอะ ง่ายๆอย่างหวยใต้ดินก็ยังมีอยู่เลย พวกมิจฉาชีพก็อาจเข้ามาฟอกเงินได้"
          จีนสั่งห้ามระดมทุนไอซีโอ
          นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน สายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า การระดมทุนด้วยการเสนอขายเงินดิจิทัล หรือ ไอซีโอ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ เนื่องจากขั้นตอนไม่ยุ่งยากสามารถระดมทุนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจของแต่ละบริษัท
          แต่ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหลังมองว่าอาจมีการใช้เป็นช่องทางในการทำสิ่งผิดกฎหมาย โดยจีนเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลออกมาประกาศห้ามระดมทุนผ่านไอซีโอ หลังที่ผ่านมามีการระดมทุนกันเยอะมากจนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบสถานะที่มาของเงิน จำเงินที่อยู่ในระบบได้
          ธุรกิจมืดสบช่องใช้ฟอกเงิน
          ขณะที่แต่ละบริษัทก็มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนที่แตกต่างกันออกไป บางบริษัทเมื่อได้เงินมาแล้วก็ไม่ปฏิบัติตามอย่างที่ชี้แจงไว้ในตอนแรก รวมทั้งยังมีกล่มธุรกิจมืดเข้ามาใช้ฟอกเงินสร้างความเสี่ยงหายให้กับระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศยุติการทำไอซีโอในที่สุด
          ส่วนในประเทศอื่นเช่น อังกฤษ สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น แม้ว่าจะยังไม่ได้ห้ามทำ ไอซีโอ แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ และในอนาคตจะออกกฎหมายมากำกับดูแลเมื่อไรก็ได้
          จีนเตือนซื้อขายเงินดิจิทัลต่างแดน
          สมาคมการเงินอินเทอร์เน็ตจีน (เอ็นไอเอฟเอ) เตือนว่า นักลงทุนชาวจีนควรตระหนักถึงความเสี่ยงในการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล (ไอซีโอ) รวมถึงการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในต่างประเทศ
          "นักลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงจากการทำไอซีโอในต่างแดน หลังแพลตฟอร์มซื้อขายบางแห่งปิดตัวลง ขณะที่อีกหลายๆแห่งถูกจำกัดการเข้าถึง"
          ญี่ปุ่นจ่อฟันเว็บค้าเงินดิจิทัลถูกแฮ็ก
          ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของญี่ปุ่น กำลังพิจารณาลงโทษบริษัทคอยน์เช็คเว็บไซต์บริการซื้อขายสกุลเงินเอ็นอีเอ็ม (NEM) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล หลังบริษัทออกมาเปิดเผยว่าถูกแฮกเกอร์โจรกรรมเอ็นอีเอ็มไปจำนวนสูงถึง 58,000ล้านเยน
          สำนักงานกำกับดูแลด้านการเงิน (เอฟเอสเอ) ออกคำสั่งให้คอยน์เช็ค ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจเนื่องจากมองว่าบริษัทไม่มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมหลังถูกแฮ็คเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทแจ้งว่า ทราบแล้วว่าเงินดิจิทัลถูกขโมยไปที่ใด
          ฟิลิปปินส์เล็งปรับกฎค้าเงินดิจิทัล
          คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ฟิลิปปินส์ แถลงว่า กำลังปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์กำกับดูแลการทำธุรกรรมเงินดิจิทัล เพื่อปกป้องนักลงทุนและลดความเสี่ยงการฉ้อโกง
          นายเอมิลิโอ อาคิโน กรรมการ เอสอีซี ซึ่งดูแลการบังคับใช้กฎเกณฑ์และคุ้มครอง นักลงทุน คาดว่า กฎดังกล่าวซึ่งจะครอบคลุมการออกเงินดิจิทัลและการจดทะเบียนเงินดิจิทัล น่าจะแก้ไขแล้วเสร็จภายในปีนี้--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ