วัยรุ่น-วัยทำงาน แนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น เตือน! เด็กสายตื๊ด... มีความเสี่ยงสูง
Source - Local Press Release (Th/Eng)

Tuesday, April 10, 2018  11:56
55455 XPR XTHAI XGEN ZPRA V%PRL P%PRG

          กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

          เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นเทศกาลสนุกสนานรื่นเริง วัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมเล่นสาดน้ำกัน บริเวณที่จัดงานฯ นอกจากกิจกรรมการสาดน้ำแล้ว ปัจจุบันมีการนำรถมาเปิดเพลง หรือจัดคอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อเพิ่มความคึกครื้น และสนุกสนานมากขึ้น แต่นอกจากความสนุกจากการเล่นน้ำ และเสียงดนตรีแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องระวัง! คือ อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ และเสียงที่ดังเกินไปจากการเปิดเพลง หรือคอนเสิร์ตในงานฯ ด้วย....
          "เสียง" เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการได้ยิน ผู้ที่ได้รับเสียงดังมากเกินไป จะส่งผลกระทบทำให้หูชั้นในเสียได้ โดยพบว่า วัยรุ่นและวัยทำงาน แนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น
          ข้อมูลจาก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในประเทศไทยพบผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินกว่า 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น ซึ่งปัญหาการสูญเสียการได้ยิน มีหลายสาเหตุ เช่น จากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจากการทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่เสียงดัง รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใส่หูฟังเป็นเวลานาน การคุยโทรศัพท์เสียงดังเกินไป โดยกลุ่มเสี่ยงสูงคือกลุ่มคนที่ทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง
          อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยมีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน คือการได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆเหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งหากมีอาการเบื้องต้นเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน หรือแก้วหูทะลุหรือไม่ การตรวจการได้ยิน หากพบว่าประสาทหูเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้คือการป้องกันไม่ให้เสื่อมมากขึ้น การแก้ไขมี 2 วิธีคือการใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่เสียงดังเป็นเวลานาน หรือหากต้องอยู่ในที่เสียงดัง หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง การพักผ่อนให้เพียงพอทำร่างกายให้แข็งแรงป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน
          ด้าน นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคการสูญเสียการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี กว่า 3,000 คนต่อปี และได้ผ่าตัด ฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย โรงพยาบาลราชวิถีตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพหูของคนไทย โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ "โรงพยาบาลราชวิถี ลดเสียง ลดหูหนวก" เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง พร้อมบริการตรวจเช็คเครื่องช่วยฟังฟรี แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
          นอกจากนี้ ทางด้าน นพ.ดาวิน เยาวพลกุล และ นพ.สุประพล จันทพันธ์ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้แนะนำว่า "เสียง" ที่ทำให้เกิดอันตรายกับหูขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ ความดัง และระยะเวลาที่หูเราสัมผัสกับเสียงนั้น บางทีไม่ต้องดังแต่อยู่กับเสียงนั้นนานๆ ก็อาจทำให้มีปัญหาได้ ในทางวิชาการเสียงที่มีความดังระดับ 85 เดซิเบล ไม่ควรรับเสียงนั้นเกิน 8 ชม. หรือบางครั้งถึงแม้จะเป็นการได้ยินเสียงดังในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงปะทัด เสียงปืน บางคนได้ยินเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้มีโอกาสประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้ รวมถึงการใส่หูฟังของคนในปัจจุบัน ถึงแม้เสียงจะไม่ได้ดังมาก แต่ถ้าใส่หูฟังเป็นระยะเวลานานๆ ก็มีโอกาสทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีเสียงดัง หากต้องไปอยู่ในที่เสียงดังแบบเลี่ยงไม่ได้ ควรป้องกันด้วยการใส่ที่ครอบหู หรือใส่เอียปลั๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงที่เข้าไปในหูไม่ดังมากเกินไป
นอกจากนี้ คุณหมอยังได้แนะนำวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการหูหนวกในขั้น
          ต้นการได้ยินจะลดประสิทธิภาพลง ให้สังเกตได้จากการได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ชัด ทั้งที่คนอื่นพูดปกติ เปิดทีวีเสียงดังกว่าปกติ เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงทีวี หรือว่ามีอาการที่บ่งชี้ว่าประสาทหูเสื่อม เช่น ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องจี๊ดๆ อยู่ในหู ส่วนการทดสอบว่ามีอาการประสาทหูเสื่อมหรือไม่ ง่ายๆ คือ ให้ใช้สองนิ้วมาเสียดสีกัน บริเวณข้างๆ หู ถ้าพบว่าไม่ได้ยิน ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
          ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหูเป็นเวลากว่า 60 ปี รวมทั้งเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบัน รพ. มีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก ปัจจุบันโรงพยาบาลกำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้ ดังนั้น ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3547997-9 หรือ
http://www.rajavithihospitalfoundation.org

-ลก-

          สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net