กสทช. คุมเข้ม คอนเทนต์ ป้องผู้บริโภค-เดินตามคำสั่ง คสช.
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Thursday, June 07, 2018 08:04
4861 XTHAI XITBUS IT V%NETNEWS P%WPTK
เป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลกับการกำกับคอนเทนต์ของ กสทช. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทั้งเรื่องการปล่อยให้มีคำพูดหยาบคายผ่านรายการซิตคอม หรือรายการข่าวของพิธีกรดัง และปล่อยปละให้มีโฆษณาอาหารและยาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค รวมไปถึงอำนาจใหม่ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/ 2561ให้เพิกถอนการพักชำระหนี้ของช่องทีวีดิจิทัลได้หากมีคอนเทนต์ไม่เหมาะสม
ร้อนถึง พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการ ต้องยืนยันว่า กสทช.ไม่เคยอนุญาต ให้ใช้คำหยาบในเนื้อหาที่ออกอากาศได้
การใช้คำหยาบคายเป็นความผิดตามกฎหมายที่ กสทช.เห็นว่าสามารถตักเตือนเจ้าของช่องเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องได้ ซึ่งได้ตักเตือนไปแล้ว แต่ถ้าผิดซ้ำสองจะปรับเป็นเงิน 5 หมื่นบาท และขยับได้ถึง 500,000 บาท
ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีลำดับโทษทางปกครอง ตั้งแต่แจ้งเตือน สั่งปรับ พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต
เป้าหมายการกำกับคอนเทนต์ ไม่ได้ต้องการค่าปรับจากช่องเพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าใจและไม่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างผลกระทบกับผู้บริโภคต่อสังคม จากนี้จะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบไปถึงกลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย
โดยตามมติที่ประชุม กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์) ที่ 26/2558 ได้เห็นชอบกรอบการกำหนดโทษไว้ในกรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งทางปกครอง แยกไว้ 3 กลุ่ม คือ 1.หากเป็นกลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการ มีโทษปรับ 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ขัดคำสั่ง
2.ผู้ประกอบการวิทยุ และเคเบิลทีวีท้องถิ่นและภูมิภาค ปรับ 7.5 แสนบาท ปรับอีกวันละ 2 หมื่นบาท 3.ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีระดับชาติ ทีวีดิจิทัล ทีวีแอนะล็อก โทษปรับ 1 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 5 หมื่นบาท
ส่วนการได้สิทธิ์พักหนี้ตามคำสั่ง คสช. แม้จะให้อำนาจคุมเนื้อหาไว้ แต่วัตถุประสงค์แค่ไม่ให้เกินเลยมากเกินไป เฉพาะในกรณีที่มีปัญหาซ้ำซากเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาทุกช่องให้ความร่วมมือดี ดังนั้นการกำกับคอนเทนต์วันนี้กับในอนาคตยังตามกรอบเดิม เราไม่อยากให้ใช้เหตุนี้ไปเพิ่มดาบในการบังคับสื่อ
ทั้งยังยืนยันว่า ที่ผ่านมาการกำกับดูแลของ กสทช. มีแค่บางส่วนที่เป็นมิติทางการเมือง ขณะที่ปัญหามิติเชิงสังคมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ ทั้งยังมีคอนเทนต์น้ำดีที่ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทำดีแล้วได้ดี
ขณะที่การกำกับดูแลคอนเทนต์ที่ฝ่าฝืน ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พลโทพีระพงษ์ ย้ำว่ามีผู้ประกอบการที่โดนพิจารณาโทษจากมาตรานี้น้อย เพราะเป็นมาตราที่ต้องใช้การตีความมาก จึงมุ่งไปที่การพิจารณาเนื้อหาตามคำสั่ง คสช. 97/2557 แทน เนื่องจากระบุเนื้อหาได้ชัดเจนกว่า
ที่เป็นห่วงคือ คอนเทนต์ที่เป็นมิติทางการเมือง ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาสม่ำเสมอ แต่ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว การนำเสนอข่าว รายการข่าวที่มีผู้ประกาศ หรือผู้ดำเนินรายการเล่าข่าว โดยเฉพาะประเด็นการเมืองที่อาจทำให้เกิดความยั่วยุ แตกแยก เชื่อว่าเดือนหน้าเป็นต้นไปจะเกิดการร้องเรียนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จึงอยากขอให้เจ้าของช่อง ระมัดระวัง และถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของช่อง ไม่ใช่ผู้ดำเนินรายการ เพราะ กสทช.กำกับช่อง ในฐานะผู้รับใบอนุญาต ไม่ได้กำกับตัวบุคคล
ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนพิธีกรรายการช่องทีวีดาวเทียม บลูสกาย ใช้คำพูดหยาบคายนั้น กำลังนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.มีมติต่อไป และยืนยันว่า ไม่ได้ละเลย ไม่ได้เลือกปฏิบัติทุกอย่างอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
ที่มา: www.prachachat.net