เพิ่มบทบาท'สศช.' รวมศูนย์แก้เหลื่อมล้ำ
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, June 15, 2018 05:27
56135 XTHAI XOTHER XCOMMENT XGEN DAS V%PAPERL P%KT
กรุงเทพธุรกิจ รัฐบาลเตรียมตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาช่องว่างรายได้และความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยให้สศช.ผนวกเข้าเป็นหน่วยงานใหม่ในการปรับโครงสร้างองค์กร ดึงสำนักงบประมาณช่วยวิจัยให้ข้อมูล จัดสรรงบจัดสวัสดิการ-ลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2562 กว่า 8 แสนล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรได้ตรงตามเป้าหมาย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ในกิจกรรม "Meet the press" ที่ทำเนียบรัฐบาลในหัวข้อปฏิรูปแนวใหม่ ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน วานนี้ (14 มิ.ย.) ว่า รัฐบาล ได้หารือเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม โดยจะตั้ง สำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำเป็นหน่วยงานใหม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหน่วยงานตามร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งจะมีการตั้งสำนักงานนี้ขึ้นเพื่อทำงานเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง
สำหรับกลไกการทำงานของสำนักงาน บูรณาการลดความเหลื่อมล้ำจะทำงานร่วมกับ สำนักงบประมาณในการศึกษาวิจัยความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศ และการพัฒนาประเทศในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยหน่วยงานนี้จะทำวิจัยข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงลึกโดยใช้ข้อมูลจากงบประมาณรายจ่ายในปี 2562 ที่เป็นปีแรก ที่จัดสรรงบประมาณอยู่บนฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะประกาศใช้ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2561
งบประมาณเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่กว่า 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณในการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณที่จัดสรรตามวาระ (Agenda) เพื่อมุ่ง เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำวงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยจะดูความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้ง นำเสนอแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม รวมทั้งเสนอแนะด้วยว่าหากมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มเติมในปีต่อๆไปจะจัดสรรงบฯลงไปในส่วนใดที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
"ประเทศไทยพัฒนาประเทศมา 30-40 ปี รายได้รวมเพิ่มกว่า 10 เท่าแต่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นมาก การตั้งสำนักงาน บูรณาการลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมาอยู่ในโครงสร้างของสภาพัฒน์ จะเป็นเครื่องมือ ในการวิจัยและเก็บข้อมูลในส่วนนี้จากทั้งในรายงานที่สภาพัฒน์จัดทำ และการศึกษาการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้มีข้อมูลที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้"นายกอบศักดิ์กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าต่อไปว่าในส่วนของการปฏิรูปเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับประชาชน คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้หารือกับประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านและรับฟังความคิดเห็นจาก ประชาชน 15 โครงการ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้นำชุมชน การจัดตั้งสภาประชารัฐ ชุมชน พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ.ป่าชุมชน การแก้ไขกฎหมายให้สามารถปลูกและตัดไม้ มีค่าได้ การขยายโครงการ 1 ไร่ 1 แสนบาท ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การจัดตั้ง กองทุนยุติธรรม การตั้งธนาคารที่ดิน พ.ร.บ. ขายฝาก โครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง และโครงการยาเพื่อประชาชน ซึ่งโครงการต่างๆนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60% ซึ่งส่วนที่เหลือจะผลักดันให้สำเร็จภายใน 6 เดือนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
นอกจากนี้ในส่วนของการปฏิรูปกฎหมายที่จะต้องทำในเรื่องการปรับลด และแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่มีความจำเป็นจะมีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการซึ่งเป็นการทำงานปฏิรูปต่อเนื่องแม้รัฐบาลนี้จะหมดวาระก็ตาม
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้หารือถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในระยะเร่งด่วนในช่วง 8 เดือนข้างหน้าซึ่งเป็นระยะเวลาการทำงานที่เหลือของรัฐบาลนี้โดยจะเร่งรัดการปฏิรูป 6 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้จน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยจะเร่งรัด กฎหมายการปลูกและตัดไม้มีค่าเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น มูลค่าสูงให้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง การจัดตั้งกองทุนสร้างผู้นำชุมชน และการจัดการที่ดินแปลงใหญ่เพื่อการเกษตร 2.การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยนอกจากตั้งสำนักงาน บูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยังจะมีโครงการพัฒนารูปแบบบริการ (Service Model) ในคลินิกครอบครัว
3.การแก้โกง สร้างความโปร่งใส โดยจะ เสนอให้มีการนำเอาเทคโนโลยี เข้ามาเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นแจ้งเบาะแสการทุจริตในภาครัฐ และเพิ่มอำนาจให้กับภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต 4.การสร้างความมีส่วนร่วมในการปกครองเพื่อส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ได้แก่ การสร้างจิตอาสาพัฒนา เมือง การตั้งสภาประชารัฐท้องถิ่น 5.การปฏิรูป ระบบราชการเพื่อประชาชน โดยเร่งรัดการใช้บิ๊กดาต้าภาครัฐ พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ และทบทวนกฎหมายล้าสมัย
6.การสร้างอนาคตไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเน้นไปที่การส่งเสริมสตาร์ทอัพ โซลาร์รูฟเสรีได้อย่างเสรี การจัดรณรงค์ในสื่อสารมวลชน และสื่อดิจิทัล สร้างเครือข่ายภาคประชาชน และเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 6 ด้าน ในการทำงานได้แก่ อนุกรรมการประสานงาน อนุกรรมการปฏิรูปกระทรวงต้นแบบ 4 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาพัฒน์ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วม คณะอนุกรรมการจริยธรรมของสื่อมวลชน และคณะอนุกรรมการเร่งรัดกฎหมายที่มีความจำเป็น ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันกฎหมายสำคัญได้อย่างน้อย 20 ฉบับจากกฎหมายที่มีการเสนอว่า มีความจำเป็นกว่า 100 ฉบับ
รวมทั้งจะติดตามกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วแต่ยังค้างอยู่ในชั้นสภานิติบัญญัติ (สนช.) เช่น พ.ร.บ.การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ร.บ.การพัฒนา การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยใน ส่วนของกฎหมายที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน รัฐบาลจะมีการทำฟาสต์แทรคการพิจารณากฎหมายโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการร่างกฎหมายที่จะดึงเอาคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาช่วยร่างกฎหมาย และเร่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และสนช.--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ