จิตแพทย์ ห่วง! อย่าหาจำเลย-อย่าตั้งข้อหา- อย่าหาสาเหตุ
Source - สปริงนิวส์ (Th)
Tuesday, July 03, 2018 14:39
47979 XTHAI XGEN XLOCAL GEN V%WIREL P%SPNO
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยหลังจากพบว่าทั้ง 13 คนที่ติดถ้ำหลวงปลอดภัย ได้สร้างความดีใจให้กับทุกฝ่าย ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ให้การช่วยเหลือทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ลุ้นกันมาตลอด
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้สะท้อนแง่คิดที่น่าสนใจว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การซักถามหรือการสัมภาษณ์เด็กและครอบครัวต่อจากนี้ ที่ควรหลีกเลี่ยงการถามถึงเหตุการณ์วิกฤต เนื่องจากเป็นการตอกย้ำจิตใจ สร้างบาดแผลทางใจให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ จึงไม่ควรใช้คำถามที่ทำให้เขารู้สึกหวาดกลัว ซ้ำเติม หรือตำหนิ หรือพูดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ชี้นำสภาพจิตใจ ให้แย่ลง เป็นต้น จึงไม่ใช่เวลาในการหาจำเลย ตั้งข้อหา หาสาเหตุ หรือสั่งสอนให้หลาบจำ เพราะเรื่องได้เกิดขึ้นแล้ว และเหตุการณ์นี้ จะทำให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า ต่อไปเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างไร และต้องไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต เป็นต้น
การถามจึงควรถามในประเด็นเชิงบวก สร้างขวัญกำลังใจ เช่น พวกเขาอยู่ได้อย่างไร ทุกคนในทีมช่วยเหลือกันและกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและช่วยด้านสภาพจิตใจพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม ควรรอให้เด็กได้รับการประเมินและดูแลจนพร้อมก่อน ซึ่งในการดูแลด้านสุขภาพจิตนั้น ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองอาจยังมีความเครียดสะสม ความขุ่นข้องหมองมัว ซึ่งทีม MCATT ได้ดูแลจิตใจมาอย่างต่อเนื่อง ให้กำลังใจ สื่อสารเชิงบวก เตือนสติ ให้เขาเตรียมความพร้อม มีความมั่นคงทางจิตใจ ตลอดจนปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดไม่ให้เป็นการซ้ำเติม หรือโทษว่าเป็นความผิดพลาดของตนเองหรือของเด็กๆ ให้มองถึงน้ำใจและการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนแทน เป็นต้น
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ จึงควรให้คำแนะนำ หรือชี้แนะเด็กๆ ให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง อาจพูดคุยกับเขา และสอนเขาให้ได้รู้ว่าความเสี่ยงต่าง ๆ มันเกิดขึ้นได้ จากการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือการไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะไปทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการอยู่ในสังคม การมีระเบียบ มีวินัย และเท่าทันต่อเหตุการณ์ได้
เมื่อถามว่า คนไทยได้อะไรบ้าง จากเหตุการณ์นี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้บอกว่า คนไทยได้เห็นถึงน้ำใจ ความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยและต่างประเทศ ได้เห็นถึงความเสียสละ ความห่วงใย กำลังใจ การไม่ทอดทิ้งกัน ทั้งกายและใจ การรับข้อมูลข่าวสารที่ต้องรับจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ที่สำคัญ ทุกคนมีความสามารถมีศักยภาพในการใช้ทักษะของตัวเองก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ไม่มีอาชีพไหน เหนือกว่าอาชีพไหน ทุกคนสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามและเป็นประโยชน์ให้กับสังคมได้ ทั้งยามปกติและยามวิกฤต
.
ที่มา: www.springnews.co.th