อย่าเชื่อ "แผ่นแปะสะดือ" อ้างเผาผลาญไขมัน อย.ตรวจไม่พบขึ้นทะเบียน
Source - MGR Online (Th)
Friday, July 06, 2018 11:25
55974 XTHAI XETHIC V%WIREL P%ASMO
อย.เตือน "แผ่นแปะสะดือ" เผาผลาญไขมัน โฆษณาเกินจริง ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า เสี่ยงเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เร่งเอาผิดตามกฎหมายแล้ว
วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ตรวจพบการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ "แผ่นแปะสะดือเผาผลาญไขมัน" ตามสื่อโซเชียลมีเดีย อวดอ้างสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของขบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ช่วยสลายไขมัน...ขับไขมัน ออกจากร่างกาย ระบุวิธีใช้โดยการแปะลงบนสะดือ เพื่อลดน้ำหนักตามต้องการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า จะต้องจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้า ยื่นขอผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อน
นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ แต่ไม่พบการยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ขอเตือนผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ได้แสดงปริมาณและส่วนประกอบที่ชัดเจน และส่วนผสมของกาวแปะ อาจทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคืองได้ หากแปะไว้นานเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้ตั้งแต่น้อย ๆ เป็นผื่นแพ้คัน หรืออาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ อย. จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่มีหนังสือประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หากต้องการมีรูปร่างดี ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 - 60 นาทีต่อวัน ควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับจากอาหารให้ลดลง หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ก็สามารถมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีได้ นอกจากนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันสอดส่อง หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ" รองเลขาธิการ อย. กล่าว--จบ--
ที่มา: https://mgronline.com