กระทรวงใหม่วิจัย-นวัตกรรม เคลื่อนเศรษฐกิจ New S-curve
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Wednesday, July 11, 2018 04:23
48561 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XECON DAS V%PAPERL P%PTK
เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ประกอบกับ "วาระปฏิรูป" ที่ถูกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชูธงเป็น "วาระแห่งชาติ" จึงมีแนวคิดการจัดตั้ง "กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม" ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 มีมติรับหลักการเพื่อยกเครื่องระบบการศึกษา-การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม สู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"
ตอบโจทย์ 10 S-curve เท่าทันโลก
โดยมีหลักการและความจำเป็นต้องแยกการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้สถาบันศึกษาปรับตัวอย่างก้าวกระโดด ผลิตกำลังคนตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือการเตรียมความพร้อมประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" ให้ความสำคัญ กับการวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคน เปลี่ยน กระบวนทัศน์และโมเดลการขับเคลื่อนประเทศ (game changing)
หน้าที่และอำนาจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม คือ การส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความเป็นอิสระในทางวิชาการ วางแผน ส่งเสริม สนับสนุน ดำเนินการ วิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนา ประเทศ
"บิ๊กตู่" ประธาน "ซูเปอร์บอร์ด"
โดยมีกลไกการกำกับดูแลและการบริหารงาน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการระดับชาติ (super board) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดนโยบาย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
2.คณะกรรมการระดับกระทรวง แบ่งออกเป็นคณะกรรมการ การอุดมศึกษา และคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการระดับชาติไปสู่การปฏิบัติ
ดำเนินภารกิจ 2 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจที่ 1 กลุ่มนโยบายและจัดสรรทุน เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ วางแผนอนาคต ทำแผนแม่บทอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย นวัตกรรมและการพัฒนากำลังคน จัดทำแผนการลงทุนและจัดสรรทุนวิจัย
ผลิตบัณฑิต-สร้างศักยภาพผู้ประกอบการ
กลุ่มภารกิจที่ 2 กลุ่มปฏิบัติการ แบ่งออกเป็นด้านการอุดมศึกษา บทบาทหลัก การผลิตบัณฑิตศึกษาหรือสูงกว่า และบุคลากรวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ศตวรรษที่ 21
ทำการวิจัยในระดับต่าง ๆ อาทิ การวิจัยพื้นฐาน รวมทั้งดำเนินงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม
ตั้ง สนง.วิจัยสังคม-มนุษยศาสตร์
สำหรับโครงสร้างกระทรวง ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (เปลี่ยนสถานะ เป็นองค์การมหาชน ภายใน 3 ปี) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (โอนไปสังกัดกระทรวงอื่นที่เหมาะสม ภายใน 3 ปี) และสำนักงานส่งเสริมการวิจัยสังคมและมนุษยศาสตร์ (ส่วนราชการจัดตั้งใหม่ ก่อนเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชน ภายใน 3 ปี)
โดยจะมีการปรับปรุงหน้าที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้เป็นองค์กรจัดสรรเงินทุนด้านอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม
ปรับบทบาทภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (think tank) ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมขององค์การมหาชนที่เกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมในสังกัดกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรมแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ภายใน 3 ปี
ควบรวมมหาวิทยาลัย 157-สถาบันวิจัย 13 แห่ง
ทั้งนี้ จะมีการปรับรวมหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเข้ามารวมอยู่ในสังกัดกระทรวง ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษา 157 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 10 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 26 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 73 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง วิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง
และองค์การมหาชน 11 แห่ง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เป็นต้น
นอกจากนี้ มีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ไทม์ไลน์กระทรวงใหม่
แผนการดำเนินการจัดตั้งกระทรวง แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2561
ระยะที่ 2 วางระบบ พัฒนากระบวนงานและจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและอัตรากำลัง ภายในเดือนมกราคม 2562 โดยจะเห็นเป็นรูปธรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ระยะที่ 3 ปรับโครงสร้างส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
Early retirement รับองค์การมหาชน
คณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานควรมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเท่าที่จำเป็น และควรให้มีกรรมการเต็มเวลา
การบริหารจัดการส่วนราชการที่อาจแปรสภาพเป็นองค์การมหาชนในอนาคต อาจมีเหตุผลสำคัญที่จะต้องรอเวลาให้ข้าราชการบางส่วนทยอยเกษียณอายุ ดังนั้น ควรนำระบบการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (early retirement) มาใช้--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 15 ก.ค. 2561--