'พาณิชย์'ลุยสอบนอมินีท่องเที่ยว
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, July 23, 2018  06:23
61389 XTHAI XOTHER XFRONT XECON DAS V%PAPERL P%KT

          กรุงเทพธุรกิจ "พาณิชย์" ลุยตรวจนอมินีแหล่งท่องเที่ยว ป้องกันถือหุ้นแทนขัดกฎหมาย จับมือกรมท่องเที่ยว สรรพากร ปปง.ไล่ตรวจที่มาแหล่งเงิน ที่ตั้งสำนักงาน พร้อมเรียกกรรมการบริษัทมาชี้แจง ปีนี้พบ 2 รายใช้นอมินีที่ภูเก็ต เผยไม่มีบริษัทจีนยื่นขออนุญาตทำธุรกิจท่องเที่ยวตามกฎหมายต่างด้าว
          นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนา ธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% เพื่อตรวจสอบการตั้งบริษัทแต่มีตัวแทนอำพรางหรือ ถือหุ้นแทน (นอมินี) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ที่รัฐบาลมีการแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยได้ร่วมมือกับ กรมการท่องเที่ยว กรมสรรพากร สำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงาน ในท้องถิ่น
          สำหรับ พื้นที่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบนอมินี จะเน้นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ เช่น ภูเก็ต กระบี่ ตราด ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ซึ่งต่างชาติ ส่วนใหญ่เข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
          ส่วนวิธีการตรวจสอบมี 6 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของนิติบุคคล ได้แก่ ข้อมูลทะเบียน งบการเงิน โครงสร้างการถือหุ้น 2.เรียกกรรมการนิติบุคคลชี้แจง และส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลงทุน ถือหุ้นในบริษัทพร้อมทั้งให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
          3.เรียกเอกสารทางบัญชี งบการเงิน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งที่มา ของเงินลงทุน เงินกู้ยืม หรือความผิดปกติของ เงื่อนไขในการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินในประเภทต่างๆ 4.ออกตรวจสอบ ณ สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
          5.หากตรวจพบว่านิติบุคคลมีการกระทำ ในลักษณะเป็นนอมินี และมีการประกอบธุรกิจ ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ก็จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย 6.กรณีที่มีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ได้รับความร่วมมือ ในการตรวจสอบจะส่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการต่อไป
          นางกุลณี กล่าวว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึง 50% เป็นโครงการ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ 1.ธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2.ธุรกิจ ค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และการถือครองอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเกษตร
          ตรวจนอมินีสุราษฎร์-ประจวบฯ-ชุมพร
          นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ตรวจสอบบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินี 2,136 รายแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ไม่พบความผิดปกติ และยุติเรื่องการตรวจสอบ 1,783 ราย 2.ดำเนินคดีตามกฎหมาย 298 ราย 3.ไม่มีที่ ตั้งตามที่จดทะเบียนธุรกิจ 21 ราย 4.ตรวจสอบ พบพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี 34 รายซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และเฉพาะในปี 2561 พบกรณีเข้าข่ายนอมินี 2 ราย เป็นร้านอาหาร 1 ราย และให้เช่ารถยนต์ 1 รายที่ จ.ภูเก็ต
          นางกุลณี กล่าวว่า การตรวจสอบนอมินียังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยการตรวจสอบส่วนหนึ่งมาจากการร้องเรียนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ วางแผนเข้าตรวจสอบ ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใน จ.สุราษฎร์ธานีและประจวบคีรีขันธ์ และตรวจสอบล้งผลไม้ หรือพ่อค้าผู้รวบรวมผลไม้ที่ จ.ชุมพร เพราะผลไม้ในภาคใต้กำลังจะออก เพราะกฎหมายห้ามคนต่างด้าวขายผลผลิตสินค้าเกษตร ในไทย ทำได้แค่เพียงซื้อจากชาวสวนแล้ว ส่งออก ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีคนไทยเป็นนอมินี หรือไม่เพื่อให้ขายสินค้าเกษตรในไทยได้
          ในขณะที่ หลังจากเกิดอุบัติเหตุเรือ ท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต ได้ตรวจสอบบริษัทท่องเที่ยว 2 ราย คือบริษัททีซี บลู ดรีม จำกัด เจ้าของเรือฟินิกซ์ ผลสอบพบคนไทยถือหุ้น 100% และไม่มีที่ตั้งสำนักงานตามที่ระบุในการจดทะเบียน และบริษัทเลซี่ แคท ทราเวล จำกัด ตรวจสอบพบมีสำนักงานตามที่ระบุไว้แต่ปิดทำการ โดยบริษัทนี้คนไทยถือหุ้น 51% และบริษัท เลซี่แคท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศจีนถือหุ้น 49%
          บริษัทจีนไม่ยื่นขอทำธุรกิจท่องเที่ยว รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การทำธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยว เป็นธุรกิจที่กำหนดในบัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งกำหนดให้ชาวต่างชาติที่ต้องการทำธุรกิจดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
          ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบสถิติการอนุญาตให้คนต่างด้าวจีนประกอบธุรกิจภายใต้กฎหมาย ดังกล่าวตั้งแต่ 3 มี.ค.2543 ถึง 30 มิ.ย.2561 พบว่าคนต่างด้าวจีนได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 172 รายคิดเป็น 3.3% ของการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจทั้งหมด 5,223 ราย โดยจีนถือเป็นประเทศที่ได้รับใบอนุญาตมากเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 62 ประเทศที่ได้รับใบอนุญาต
          สำหรับประเภทธุรกิจที่คนต่างด้าวจีนได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจสำนักงานผู้แทน สำนักงานภูมิภาค 43 ราย 2.ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมธุรกิจก่อสร้างธุรกิจที่ปรึกษาโครงการให้แก่ภาครัฐ 37 ราย 3.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีกและค้าส่ง 12 ราย 4.ธุรกิจบริการอื่น เช่น บริการแก่บริษัทในเครือบริการรับจ้างผลิต บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้า บริการจัดหา ติดตั้งเครื่องจักรและ อุปกรณ์ บริการให้คำปรึกษานำ 80 ราย--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ