วันศุกร์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวแสดงมุทิตาจิตแด่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ ก.ย. ๖๓ ในงานแสดงมุทิตาจิต ที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชู ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ในฐานะผู้มีคุณูปการ ต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมี น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมในงาน
ในการนี้ นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวบทรำลึก ก่อนจะ ๖๐ ปี
ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญให้เขียน เพื่อรวมเหตุการณ์ความประทับใจ และมุมมองจากเพื่อนร่วมงานที่มีต่อ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ในการให้ ความคิดเห็นและทัศนะทางการเมืองและการบริหาร
ทั้งนี้ ได้กล่าวถึง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ หรือที่นายชวน หลีกภัย ใช้สรรพนามเรียกว่า อาจารย์ มาเป็นเวลานาน โดยชื่นชมในความรู้ ความสามารถ อันปราดเปรื่องของอาจารย์ และด้วยวัยวุฒิที่ห่างกัน นายชวน หลีกภัย ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและเป็นเนติบัณฑิตก่อนอาจารย์หลายรุ่น แต่ในฐานะที่ร่วมสถาบันเดียวกัน ได้มีงานกิจกรรมของคณะที่นายชวน หลีกภัย รับเชิญไปร่วมงานอยู่เสมอ ประกอบกับการที่ได้รับเกียรติให้เป็น กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิหลายปี จึงได้ร่วมงานกับอาจารย์ ซึ่งประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ที่นำมารำลึกเป็นข้อสังเกตในการบริหารงานทั้งของมหาวิทยาลัย
และงานที่ไม่เป็นภารกิจปกติของราชการ ด้วยความรู้ระบบใหม่และความสามารถ อาจารย์ได้นำความทันสมัยมาสู่มหาวิทยาลัยและองค์กรที่รับผิดชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล
จึงมีข้อสังเกตว่า ภารกิจที่เป็นความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ของอาจารย์นั้น มิได้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงเพียงส่วนตัวแท้จริงแล้วผลงานดังกล่าวได้ก่อให้ เกิดความก้าวหน้าขององค์กรและเป็นผลประโยชน์โดยตรงของสถาบัน
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และองค์กรอื่น ๆ ที่อาจารย์อาสาและได้รับเชิญให้ไปรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงวิธีการทำงานของอาจารย์ที่ทำให้งานประสบ ความสำเร็จด้วยดี แม้บางโครงการที่อาจารย์ดูแลรับผิดชอบไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่สามารถพัฒนางานได้ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากผู้ร่วมงานทั้งภาคราชการ และเอกชน รวมทั้งศิษย์เก่า เพื่อน ๆ และกัลยาณมิตรของอาจารย์ซึ่งการที่ผู้ร่วมงาน และบุคคลภายนอกให้การสนับสนุนด้วยสมอง ความคิด หรือทรัพย์สินเงินทองนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากความเชื่อถือศรัทธา โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นจากการมีสัมพันธภาพ ที่ดีกับผู้อื่นและกล่าวได้ว่า ความเป็นผู้มีอัธยาศัยที่มีไมตรี และความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานและบุคคลทั่วไปของอาจารย์ ทำให้ การทำหน้าที่ ทั้งงานราชการและงานนอกราชการเกิดผลสำเร็จ ทั้งนี้ ชีวิตของอาจารย์สามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้แก่คนหนุ่มสาวจากพื้นที่ห่างไกล การพัฒนา ได้ศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต และเชื่อว่า ๖๐ ปี ที่ผ่านมาของอาจารย์เป็นการพิสูจน์ความรู้ ความสามารถ เพื่อจะเป็นความเชื่อมั่น ในการเริ่มต้นไปสู่บทบาทและภารกิจใหม่ที่สำคัญยิ่งขึ้น ต่อไปในอนาคต |