วันอังคารที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม
ดร.สมศักดิ์คุณหญิงปัทมาลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น ๒ อาคารสยามบรมราชกุมารี
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร
ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑ หลักสูตรวิทยาการ
การจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ ๕ ใจความว่า ผู้นำเป็นบุคคล สำคัญยิ่งในองค์กร เพราะต้องมีบทบาทในการนำพาองค์กรไปสู่ความเติบโต ก้าวหน้า โดยเฉพาะในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเผชิญกับภาวะวิกฤต อย่างเช่นในปัจจุบันสภาวะผู้นำอาจจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้องค์กรอยู่รอดต่อไป ในเรื่องวิธีการของผู้นำนั้นต่างคนก็สามารถจะมีแนวทางและวิธีการของตนเอง แต่โดยหลักแล้ว วิธีการของผู้นำมี ๓ แบบด้วยกัน ได้แก่ ๑. ผู้นำแบบทหาร เป็นวิธีการที่ผู้นำสั่งแล้วอย่าถามว่าทำไม เพราะถือว่าผู้สั่งเป็น ผู้รู้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่นตอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีเหตุต้องให้สั่งการ แบบทหารเช่นนี้ คือ เหตุการณ์ก๊อส อาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งต้องตัดสินใจให้มีการจัดการอย่างเด็ดขาดเพื่อให้เกิดความสูญเสีย น้อยที่สุด ๒. ผู้นำแบบครู เป็นวิธีการนำโดยอาศัยการสั่งสอนเพราะถือว่ามีความรู้และประสบการณ์ มากกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา
๓. ผู้นำแบบลูกพี่ ผู้นำแบบนี้มักต้องคลุกคลีและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจก็จะมีการถามความเห็นของหลายคนว่าควรจะ ดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร อาจมีความเห็นได้หลากหลาย แต่ในที่สุดผู้นำจะเป็น ผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย วิธีการนี้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วย ซึ่งในเชิงทฤษฎี ไม่มีวิธีการแบบใดแบบหนึ่งที่จะประสบผลสำเร็จตลอดเวลา ผู้นำต้องประเมินว่า ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ควรจะใช้วิธีการใด หรืออาจต้องใช้วิธีการเหล่านี้ แบบผสมผสานกัน ส่วนในเรื่องคุณสมบัติของผู้นำ ต้องมีคุณสมบัติหลักคือ ๑. ผู้นำจะต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ (vision) และกำหนดภารกิจแน่ชัดที่จะต้องปฏิบัติ (mission) ๒. ผู้นำต้องมีความกล้าหาญ (courage) ความกล้าหาญในความหมายนี้ มีทั้งแง่บวกและลบ ๓. ผู้นำจะต้องคุณธรรมและจริยธรรม นั่นคือ จะอยู่บนความยุติธรรมและซื่อสัตย์สุจริตเสมอ ๔. ผู้นำต้องอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ไม่เพ้อฝัน หรือทะเยอทะยาน ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นอกจากคุณสมบัติของผู้นำโดยทั่วไปโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักปรัชญาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวถึง คุณสมบัติของผู้นำที่สอดคล้องและใช้ได้กับโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยมี องค์ประกอบ ดังนี้
๑) มีความรู้ลึกในวิชาชีพหรือสาขาวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ ๒) มีความสามารถในการสังเคราะห์หรือผสมผสานวิชาการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของสหวิทยาการ นั่นคือ เป็นทั้งผู้รู้ลึกและรู้กว้าง ๓) มีความสร้างสรรค์ในการหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา หรือมองทะลุไปว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ๔) มีจิตใจที่ให้ความเคารพต่อความคิดของผู้อื่นแม้จะเป็นความคิดหรือความเห็นต่าง ๕) มีจิตใจที่รู้จักปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีจริยธรรม สุจริต และยุติธรรมนอกจากวิธีการ
และคุณสมบัติของผู้นำดังที่กล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาด้วย คือ สภาวะที่ท้าทายผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกเป็นสิ่งที่ เราคาดหมายได้อยู่แล้ว แต่การที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกที ทำให้สภาวะ แวดล้อมที่เราดำรงอยู่รวมทั้งสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนอาจจะทำให้แม้แต่ผู้นำก็อาจจะไม่ตระหนักหรือตามทัน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ผู้นำจะต้องตระหนักคือ สถานการณ์ที่ เกิดขึ้นอาจไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำดำเนินการอยู่ใน เขตสบาย (comfort zone)
อย่างที่เคยอยู่นั้นต่อไป แต่จะต้องปรับตัวออกมาจากสภาพเดิมที่เคยดำรงอยู่ในส่วนของ ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนั้น เครื่องจักรหรือระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation) จะเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานคนในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้นำต้องตระหนัก คือ ยังมีส่วนที่เครื่องจักรหรือระบบควบคุมอัตโนมัติเข้ามาแทนไม่ได้ โดยเฉพาะ การบริหารคน การให้คำเสนอแนะและการอบรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา การสร้างแรงบันดาล ใจและสร้างแรงจูงใจ รวมทั้งการประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ผู้นำยังจะต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องเหล่านี้และในสถานการณ์หลัง COVID-19 ภาระของผู้นำนอกจากฟื้นสถานะหรือกิจการขององค์กรแล้ว ยังต้องปรับทั้งสภาพจิตใจ และสภาพการทำงานหลัง COVID-19 โดยสถานการณ์หลังโรคร้ายนี้มิได้หมายถึงว่า
โรคร้ายหมดไป และโลกกลับไปสู่สภาพปกติก่อนเกิดวิกฤต เราไม่รู้ว่าสภาพเช่นนั้นจะ กลับมาหรือไม่ และเมื่อใด สภาพที่จะเรียกว่าหลัง COVID-19 จึงมิใช่สภาพการฟื้นตัว และกลับไปสู่สภาพแบบเดิม แต่จะต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ สภาพความเป็นใหม่ โดยที่ผู้นำจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้องค์กรดำรงอยู่อย่างมีความหมายใหม่ในสภาพนั้น
สุดท้ายนี้ สิ่งที่จะย้ำคือผู้นำต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ โดยหาวิธีจัดการกับความหลากหลายที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไป อย่างรวดเร็ว ผู้นำจะต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็วมากขึ้น เข้าใจถึงการพัฒนา แนวทางใหม่ ๆ ยอมรับในนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลง และสามารถนำแนวความคิด
ที่หลากหลายมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น ต้องมีการปรับตัวให้ทัน ต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งมีความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา ไม่ทุจริตคอรัปชั่น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในหลายประการที่กล่าวมานั้น ล้วนเกิดประโยชน์ต่อองค์กรทั้งสิ้น และส่งผลให้องค์กรสามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ของ โลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
ให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป |