วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยงามดูพลี ถ.พระราม ๔ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากร บรรยายหัวข้อ ธรรมาภิบาล ภาคปฏิบัติ ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหาร ระดับสูง ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) รุ่นที่ ๑๗ โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟังการบรรยาย โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ได้บรรยายหัวข้อ ธรรมาภิบาล ภาคปฏิบัติ โดยมีใจความว่า การจัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล ซึ่งควรส่งเสริมให้สังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย ๖ ประการ ๑. หลักนิติธรรม ๒. หลักคุณธรรม ๓. หลักความโปร่งใส ๔. หลักความ มีส่วนร่วม ๕. หลักความรับผิดชอบ ๖. หลักความคุ้มค่า นอกจากนี้ ขอเพิ่มเติมข้อ ๗ หลักความไม่เกรงใจ เพราะประเทศไทย เราเคยชินกับคำว่าเกรงใจ จนบางครั้งก็ยอมทำในสิ่งที่ผิด เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา ยอมทำตาม คำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม การไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม เป็นที่มาของมาตรา ๓ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ระบุไว้ใน วรรคสอง คือ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งไม่เคย ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เป็นการยืนยันว่า มีการบริหารโดยวิธีการนอกกฎหมาย ในระหว่างใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การเมืองภาคปฏิบัติต้องให้ความสำคัญกับ หลักธรรมาภิบาล อย่างจริงจัง ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าใจ และจำหลักเหล่านี้ได้อย่างดี แต่องค์กรทั้งหลาย โดยเฉพาะของรัฐก็ยังมีปัญหา การปฏิบัติ โดยมิชอบ มีการทุจริตโกงกินกันเกือบทุกระดับ ทุกองค์กร และลุกลามไปทุกระดับ สาเหตุ มาจากการขาดธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ และคนไม่ดีมาควบคุมกฎเกณฑ์ แล้วละเมิดกฎเกณฑ์ เสียเอง ดังนั้น ธรรมาภิบาล ภาคปฏิบัติ จึงต้องพร้อมทั้งการปฏิบัติจริงและการพัฒนาให้ บุคลากรขององค์กรเป็นคนดี ไม่ใช่มีความรู้เพียงอย่างเดียว จะต้องปฏิบัติให้เป็นคนดีต่อไป สำหรับหลักสูตรดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ แนวความคิดและ ทิศทางใหม่ในการบริหารองค์กร ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเสริมสร้าง ความคิดในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในการชี้นำ ป้องกันและแก้ไข ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นหลักสูตรสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่าง ผู้เข้าอบรม วิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายสัมพันธภาพระหว่าง ผู้เข้าอบรม อันจะนำไปสู่การร่วมมือกันในอนาคตเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ต่อไป
|