วันศุกร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๑๑ นาฬิกา ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธาน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานมอบรางวัล Anti-Corruption Awards 2020 ส่งเสริมการต้านคอร์รัปชัน ประจำปี ๒๕๖๓ และกล่าวปาฐกถาเรื่อง การเมือง สุจริตทางรอดประเทศ ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิธี จากนั้น นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต ซึ่งถือเป็นที่มาของการดำเนินการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามหลักสากลในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตฯมีกรอบแนวคิดที่กำหนดไว้ ดังนี้ ๑. จะต้องกำหนดเป็นอุดมการณ์ หรือวาระแห่งชาติที่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติแก้ไข อย่างจริงจัง ๒. จะต้องมีองค์กรเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบรัฐบาลและส่วนราชการในจุดที่มีโอกาส สูงที่จะเกิดการทุจริตคอรัปชั่น ๓. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง แจ้งข้อมูลเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔. ประชาชนต้องเข้าใจ ได้เรียนรู้ และตระหนักว่าปัญหาการคอรัปชั่นได้ทำให้บ้านเมือง เสียหาย สำหรับแนวทาง การจัดระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือที่เรียกกันว่า หลักธรรมาภิบาลซึ่งควรส่งเสริมให้สังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย ๖ ประการ ๑. หลักนิติธรรม ๒. หลักคุณธรรม ๓. หลักความโปร่งใส ๔. หลักความมีส่วนร่วม ๕. หลักความรับผิดชอบ ๖. หลักความคุ้มค่า นอกจากนี้ ขอเพิ่มเติมข้อ ๗ หลักความไม่เกรงใจ เพราะประเทศไทยเคยชิน กับคำว่าเกรงใจ จนบางครั้งก็ยอมทำในสิ่งที่ผิด สำหรับข้อเสนอแนะในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต มีดังนี้ ๑. ภาครัฐบาล จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับนโยบายและระเบียบในการปฏิบัติงาน ๒. ภาคเอกชน สนับสนุนองค์กรเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ ๓. ภาคประชาชน สอดส่อง และจับตาดูการประพฤติของหน่วยงานของรัฐ "บ้านเมืองสุจริต" ถือเป็นมิติใหม่และเป็นแนวคิดใหม่ที่ตนได้คิดริเริ่มขึ้นเนื่องจากเห็นว่าการได้มา ซึ่งอำนาจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้มาด้วยความชอบธรรมและอย่างสุจริต ไม่ใช่ด้วยการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรือการทุจริต ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ส่งเสริมให้ประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักธรรมาภิบาล อันประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งเป็น ต้นกำเนิดของบ้านเมืองสุจริตอย่างแท้จริง จึงขออัญเชิญพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความตอนหนึ่งว่า "ท่านจะต้องสุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่ นอกจากความรู้และความสุจริตประจำตัวแล้ว ท่านควรมีหรือตั้ง จุดหมายให้แน่วแน่ในการงานที่จะกระทำนั้น แล้วใช้ความคิดไตร่ตรองว่าจะทำอย่างไรบ้าง และการใช้ ความคิดดังว่านี้จำเป็นต้องใช้สติควบคุม มิฉะนั้นก็จะเป็นความคิดที่ฟุ้งซ่าน ซึ่งประเทศชาติไม่พึงปรารถนา"
|