วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 - 12.00 นาฬิกา ณ ห้องทำงานประธานรัฐสภา ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายในหัวข้อ ธรรมาภิบาล : หัวใจการบริหารในแบบประชาธิปไตย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 11 (ปนป. 11) ของสถาบันพระปกเกล้า
โดยนายชวน หลีกภัย ได้กล่าวถึงความหมายของธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งหมายถึง การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลัง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทาป้องกันหรือ แก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤตภยันตรายที่อาจจะมีมาในอนาคตเพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใสและความมีส่วนร่วม อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน
สำหรับหลักการพื้นฐานของธรรมาภิบาลในองค์กรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ประกอบไปด้วย 6 หลักการ ได้แก่
1. หลักนิติธรรม คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติการไม่ทำตามอำเภอใจ การไม่ละเมิดกฎหมาย และการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
2. หลักคุณธรรม คือ การยึดมั่น ถือมั่นในคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมรวมถึงมีความซื่อสัตย์จริงใจ และยึดมั่นในความสุจริตคุณธรรมเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ทั้งความประพฤติและจิตใจซึ่งแต่ละสังคมกำหนดและยอมรับปฏิบัติกัน เช่น ซื่อสัตย์ อดทน เสียสละ
3. หลักความโปร่งใส คือ ความถูกต้อง ชัดเจน ปฏิบัติตามหลักการที่ควรจะเป็น รวมถึงการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องได้ ตลอดจนการให้และรับข้อมูลที่เป็นจริง ตรงไปตรงมา ทันเวลา
4. หลักการมีส่วนร่วม คือ การให้โอกาสบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับคำแนะนำมาร่วมวางแผนและปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับสังคม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายและมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หลักการมีส่วนร่วมจะช่วยประสานความคิดเห็นหรือความต้องการที่แตกต่าง เพื่ออยู่บนพื้นฐานโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม 5. หลักความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบในงานของตน ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน รวมถึง การตระหนักและสำนึกในสิทธิและหน้าที่
โดยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 62 ที่ว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศและชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือชาติบ้านเมืองอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป" และพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 53 ที่ว่า "คนไทยทุกหมู่เหล่า ควรจะได้ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่าง แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด มีความไม่ประมาท และมีความมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ" ซึ่งได้เน้นย้ำในเรื่องของความรับผิดชอบและให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ถึง 2 ปี ติดต่อกันเนื่องจากช่วงดังกล่าวมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
6. หลักความคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับบุคคล ความคุ้มค่าเทียบเคียงได้กับความประหยัด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเกิดมูลค่ามากที่สุด อาทิ การเปิดใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็นในอาคารรัฐสภา เพราะเงินทุกบาทมาจากภาษีประชาชน ซึ่งภาคราชการต้องประหยัด รวมทั้งต้องเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกข้อหนึ่ง โดยความเกรงใจนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจากการไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล และเสนอให้มีการเผยแพร่เพื่อจะได้เกรงกลัวและไม่นำมาเป็นแบบอย่าง
ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง โดยการใช้หลักธรรมาภิบาลทำให้องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานได้ อีกทั้งยังเป็นกลไกในการควบคุมติดตามและตรวจสอบ โดยมีประชาชนหรือองค์กรภายนอกมีส่วนร่วม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารองค์กร เพราะการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร เป็นการสร้างสำนึกที่ดีในการบริหารงาน การทำงานในองค์กร และจัดระบบที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามสำนึกที่ดี ทั้งในเรื่องของการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลืองการติดตามการทุจริต และความโปร่งใส โดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องที่จะได้รับผลกระทบ
สำหรับหลักสูตรดังกล่าว สถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมมีเจตคติที่ดีในการตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อประโยชน์ส่วนรวม ยอมรับและเห็นคุณค่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแบบประชาธิปไตย ยึดมั่นในจริยธรรม สันติวิธี และธรรมาภิบาล รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวางและรอบด้าน ตลอดจนมีทักษะในการวิเคราะห์และคัดสรรเครื่องมือเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพความเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับสังคมระบอบประชาธิปไตย และความสามารถในการประยุกต์ความรู้ ทักษะ และเจตคติในระบอบประชาธิปไตยไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งมีความสามารถในการขับเคลื่อนเครือข่ายดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อร่วมแสวงหาแนวทางในการเสริมสร้างบทบาทและเครือข่ายในการสร้างสรรค์และเผยแพร่ประชาธิปไตยให้เกิดสันติสุขสถาพรและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
|