วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษในการปฐมนิเทศหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง (วทน.) รุ่นที่ 1 หัวข้อ กฎหมายกับนักการเมือง จัดโดยสภาทนายความฯ ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา น.ส.ศิริภา อินวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษ
ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของกฎหมายกับการเมือง และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับได้แบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการออกฎหมายเพื่อใช้บังคับในประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา มีอำนาจในการบริหารกิจการบ้านเมือง และฝ่ายตุลาการหรือศาลมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งสามฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระจากกันในการปฏิบัติงาน แต่ก็มีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อให้อีกองค์กรหนึ่งใช้อำนาจภายในขอบเขตอำนาจของตนเอง รวมทั้งได้กล่าวถึงการเมืองการปกครองภายใต้หลักนิติรัฐ โดยรัฐบาลต้องยึดถือหลักความชอบด้วยกฎหมาย ปกครองโดยกฎหมายและทุกคนในรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐโดยเคารพต่อกฎหมายและจะไม่กระทำการใด ๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด และกล่าวถึงปัญหาการเมืองไทย อาทิ ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ ปัญหาการขาดความสามัคคีของประชาชนไทยซึ่งมีผลมาจากการมีความคิดเห็นทางด้านการเมืองที่แตกต่างกัน ปัญหาการขาดจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมือง ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาทางด้านทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองของไทย อีกทั้งได้กล่าวถึงการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง สำหรับเรื่องของกฎหมายกับการเมืองนั้น ในประเทศที่มีสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งและประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพ มีกฎหมายที่ดี ครอบคลุมในบริบทต่าง ๆ ของสังคม เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยใช้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการเมืองให้เป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยหากประเทศมีกฎหมายที่ดีและบังคับใช้อย่างเข้มแข็งแต่ฝ่ายการเมืองไม่มีคุณภาพและมีธุรกิจการเมืองเข้ามาแทรกแซง ก็อาจทำให้มีการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าที่จะให้ประโยชน์แก่ประชาชน ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นกลไกสำคัญในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่นอกจากจะต้องมีกระบวนการนิติบัญญัติที่ดีแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย
ทั้งนี้ รัฐสภา ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างการเมืองสุจริต ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับทางการเมืองเท่านั้นแต่จำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝังเรื่องของประชาธิปไตยที่สุจริตในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์การเมืองสุจริต ซึ่งจะเป็นรากฐานของบ้านเมืองสุจริตต่อไป ซึ่งส่วนสำคัญของการเสริมสร้างการเมืองและบ้านเมืองสุจริตนั้นอยู่ที่การเลือกตั้งที่สุจริต เริ่มตั้งแต่การต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง โดยเป้าหมายเบื้องต้นคือการให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและระบบการเมืองสุจริตที่มุ่งให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายคุณธรรมต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงตามแนวทางการเมืองสุจริตเพื่อนำร่องไปสู่การสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องการเสริมสร้างบ้านเมืองทุจริตในสถาบันการศึกษาต่อไป พร้อมกันนี้ ได้กล่าวถึงการเสริมสร้างการเมืองสุจริตโดยยึดถือหลักธรรมาภิบาล ประกอบด้วย 6 หลักการ ได้แก่ 1. หลักนิติธรรม คือ การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติการไม่ทำตามอำเภอใจ การไม่ละเมิดกฎหมาย และการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น 2. หลักคุณธรรม คือ การยึดมั่น ถือมั่นในคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมรวมถึงมีความซื่อสัตย์จริงใจ และยึดมั่นในความสุจริตคุณธรรมเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ทั้งความประพฤติและจิตใจซึ่งแต่ละสังคมกำหนดและยอมรับปฏิบัติกัน 3. หลักความโปร่งใส คือ ความถูกต้อง ชัดเจน ปฏิบัติตามหลักการที่ควรจะเป็น รวมถึงการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องได้ ตลอดจนการให้และรับข้อมูลที่เป็นจริง ตรงไปตรงมา ทันเวลา 4. หลักการมีส่วนร่วม คือ การให้โอกาสบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อรับคำแนะนำมาร่วมวางแผนและปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับสังคม ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายและมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หลักการมีส่วนร่วมจะช่วยประสานความคิดเห็นหรือความต้องการที่แตกต่าง เพื่ออยู่บนพื้นฐานโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม 5. หลักความรับผิดชอบ คือ ความรับผิดชอบในงานของตน ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน รวมถึงการตระหนักและสำนึกในสิทธิและหน้าที่ โดยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 52 ที่ว่า "ขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศและชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือชาติบ้านเมืองอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป" และพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 53 ที่ว่า "คนไทยทุกหมู่เหล่า ควรจะได้ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่าง แล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด มีความไม่ประมาท และมีความมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ " ซึ่งได้เน้นย้ำในเรื่องของความรับผิดชอบและให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ถึง 2 ปี ติดต่อกันเนื่องจากช่วงดังกล่าวมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ 6. หลักความคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระดับบุคคล ความคุ้มค่าเทียบเคียงได้กับความประหยัด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า คือ การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเกิดมูลค่ามากที่สุด อาทิ การเปิดใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็นในอาคารรัฐสภา เพราะเงินทุกบาทมาจากภาษีประชาชน ซึ่งภาคราชการต้องประหยัด รวมทั้งต้องเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกข้อหนึ่ง โดยความเกรงใจนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง โดยการใช้หลักธรรมาภิบาลทำให้องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานได้ อีกทั้งยังเป็นกลไกในการควบคุมติดตามและตรวจสอบ โดยมีประชาชนหรือองค์กรภายนอกมีส่วนร่วม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารองค์กร เพราะการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร เป็นการสร้างสำนึกที่ดีในการบริหารงาน การทำงานในองค์กร และจัดระบบที่สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามสำนึกที่ดี ทั้งในเรื่องของการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลือง การติดตามการทุจริต และความโปร่งใส โดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องที่จะได้รับผลกระทบ สำหรับหลักสูตรดังกล่าว วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความฯ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ความข้าใจในกระบวนการยุติธรรม และสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรของตนให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งสามารถนำความรู้ทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากการศึกษาอบรมในครั้งนี้ ไปยกระดับพัฒนาองค์กรของตนเองและบริหารองค์กรได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพต่อไป
|