วันพุธที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 11.00 นาฬิกา ณ โถงกลางห้องสัมมนา ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2565 พร้อมกล่าวแสดงความยินดี และให้โอวาทแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ปี 2565 กล่าวรายงาน ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ปี 2565 คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมพิธี
จากนั้น เป็นการมอบรางวัล โดยรางวัลนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถานศึกษา มีผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโดยมีผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรม ประกอบด้วย รางวัลระดับดีเด่น รางวัลระดับดีมาก รางวัลระดับดี และรางวัลระดับชมเชย ดังนี้ รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย "ดีเด่น" ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : เรียนรู้รากเหง้าเข้าใจวิถีประชาธิปไตยแบบพอเพียง ทีม : จิตอาสาพัฒนาประชาธิปไตย โรงเรียนศรีหนองกาววิทยา จ.ขอนแก่น
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย "ดีมาก" ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 60.000 บาท ได้แก่ ผลงาน : โครงกรเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการใช้อัตลักษณ์ วิถีชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ทีม : โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จ.ภูเก็ต
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย "ดี" ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : Y.W. Public Mind Model จากจิตสาธารณะของนักเรียนสู่พลังสร้างสรรค์ชุมชนน่าอยู่ ทีม : คณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ได้แก่ 1. ผลงาน : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ทีม : โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม จ.สมุทรสาคร 2. ผลงาน : โครงการธนาคารแพะเนื้อ แบบเลี้ยงหวะ ทีม : มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.พัทลุง 3. ผลงาน : SKP RIGHTS Model ทีม : โรงเรียนสันกำแพง จ.เชียงใหม่
2. ประเภทชุมชน/ องค์กร มีผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยผลงานนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา โดยมีผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรม ประกอบด้วย รางวัลระดับดีเด่น รางวัลระดับดีมาก รางวัลระดับดี และรางวัลระดับชมเชย ดังนี้
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย ดีเด่น ได้รับโล่รางวัล และเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : กระบวนการหารืออย่างสร้างสรรค์ในการจัดการความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้าน ทีม : สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จ.ปัตตานี
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย ดีมาก ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล 60,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : การบริหารจัดการน้ำชุมชน ภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทีม : หน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
รางวัลนวัตกรรมประชาธิปไตย ดี ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ผลงาน : ทะเลหมอกจาเราะกางา : การท่องเที่ยวเพื่อชุมชนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ทีม : โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ ) ร่วมกับชุมชนกาแป๊ะกอตอและจาเราะกางา จ.ยะลา
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรของประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท ได้แก่ 1. ผลงาน : นวัตกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยกับการท่องเที่ยวชุมชน ทีม : กลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ จ.เลย 2. ผลงาน : ธรรมนูญตำบลน่าอยู่ ตำบลแค ทีม : ตำบลแค อำเภอจะนะ จ.สงขลา 3. ผลงาน : วัฒนธรรมนำสุข ทีม :สภาเด็กและเยาวชนตำบลเสาเภา และเครือข่าย จ.นครศรีธรรมราช
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวแสดงความยินดีกับคณะผู้จัดงานและผู้ชนะการแข่งขันการประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประจำปี 2565 โดยขอให้ทุกได้ภาคภูมิใจกับผลงานที่ส่งเข้าประกวดที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ผู้ทรงเกียรติ ซึ่งได้ให้นโยบายไปว่า ขอให้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยจริง ขออย่าเป็นการล่ารางวัล เนื่องจากวิถีประชาธิปไตยแท้จริงอยู่ที่การปฏิบัติ มากกว่าทฤษฎี เพราะในแง่ทฤษฎีเป็นที่รู้ดีอยู่แล้ว ต้องส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยในแนวทางปฏิบัติ ด้วยการมีส่วนร่วมกับทางราชการ ส่วนร่วมกับองค์กรในการเข้าไปทำกิจกรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และการทำงานกับส่วนรวม ไม่มีที่ใดจะมีมติเป็นเอกฉันท์ มักมีข้อขัดแย้ง มีประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่ไม่เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีความเข้าใจดีเรื่องนี้ดี เวลามีเรื่องร้องเรียน จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป ไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ต้องยึดเสียงข้างมากที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างกรณีโครงการเบี้ยผู้สูงอายุ และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
โดยประธานรัฐสภา ขอให้ผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. ได้ชดใช้คืนเงินด้วย ซึ่งในสภาฯ มี เจ้าหน้าที่กู้เงินยืมจาก กยศ. กว่า 100 คน และได้มีการชดใช้เงินยืมแล้ว ต่อไป น่าจะมีการออกระเบียบใหม่ด้วยว่า ใครที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. แล้วไม่ใช้คืน ไม่ต้องรับเข้าทำงาน ซึ่งมีหลายสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้ชดใช้เงินยืม แต่บางสถาบัน ไม่ส่งเสริมให้นักศึกษาชดใช้คืนเงิน กยศ. ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่แนะนำไปในแนวทางประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย ต้องมีสิทธิ หน้าที่ จึงขอให้ผู้ชนะการแข่งขันได้กลับไปขยายผลในพื้นที่ เพื่อผลดีต่อชุมชน และบ้านเมืองต่อไป
|