วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ อาคาร มวก.48 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2565 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วันที่ 2 โดยปี 2565 มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับประทานปริญญาทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 4,760 รูป/คน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการมอบถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และยังมอบเข็มเกียรติคุณแก่ พระเถระ คฤหัสถ์ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 122 รูป/คน ซึ่งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา โอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้ารับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายปรีชา ชวลิตธำรง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมแสดงความยินดี
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิจารณาแล้วเห็นว่า นายชวน หลีกภัย เป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ ทำคุณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ประธานกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง กรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม โดยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้ พ.ศ. 2522 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) พ.ศ. 2523 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) พ.ศ. 2524 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) พ.ศ. 2525 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) พ.ศ. 2532 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ พ.ศ. 2539 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว) พ.ศ. 2540 เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้น 1 (เหรียญทอง) พ.ศ. 2541 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ดังนี้ พ.ศ. 2536 Order of Sukatuna (Special Class), Raja สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2542 Grand Cross of the Order of Christ สาธารณรัฐโปรตุเกส พ.ศ. 2542 Order of the Sun (Grand Cross) สาธารณรัฐเปรู พ.ศ. 2543 Romania's Star - The High Cross ประเทศโรมาเนีย และ พ.ศ. 2543 Jose Dolores Estrada, Batalla de San Jacinto (Gran Cruz) สาธารณรัฐนิการากัว
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญคุณูปการมากมาย ดังนี้ พ.ศ. 2500 - 2507 ได้ช่วยเหลือกิจการงานพระพุทธศาสนาและกิจการงานวัดเรื่อยมา พ.ศ. 2512 - ปัจจุบัน เป็นสมาชิกพุทธสมาคมจังหวัดตรัง พ.ศ. 2526 - 2529 เมื่อดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสังคายนา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ (พ.ศ. 2530) พ.ศ. 2552 เป็นประธานในพิธีสมโภช พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ซึ่งเป็นพระประจำ 14 จังหวัดภาคใต้ พ.ศ. 2553 จาริกแสวงบุญและอุปถัมภ์บำรุงพุทธสถาน ณ ประเทศอินเดีย - เนปาล โดยเป็นกำลังใจและติดตามการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย สักการะสังเวชนียสถาน 4 แห่ง สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน พ.ศ. 2562 เป็นวิทยากรปาฐกถาเรื่อง "พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาไทย" ในการประชุมพุทธสมาคม 14 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 19 - 21 ธันวาคม 2562 ณ จังหวัดตรัง พ.ศ. 2562 เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างหลวงปู่ทวดรุ่นปางธุดงค์องค์ใหญ่ "หนึ่งในแผ่นดิน ถิ่นอีสาน" ณ วัดศรีชมชื่น จ.เลย พ.ศ. 2563 จัดทำโครงการ "บ้านเมืองสุจริต" โดยให้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำตำราเรียน พ.ศ. 2563 เป็นประธานและร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี โดยมีคณะสงฆ์ ชาวบ้าน กลุ่มสตรี นักเรียนเป็นเจ้าภาพร่วมบุญ
ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นายชวน หลีกภัย ได้บำเพ็ญคุณูปการ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการงานของมหาวิทยาลัยนานัปการตลอดมา เช่น พ.ศ. 2537 สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์เปิดประชุมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้เห็นความสำคัญในการดำเนินการ จึงได้ถวายอุปถัมภ์จัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้ดำเนินการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกโดยตลอด จำนวนทั้งสิ้น 35,527,020 บาท โดยเป็นพระไตรปิฎกจำนวน 270,000 เล่ม (6,000 ชุด ๆ ละ 45 เล่ม) นับเป็นคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พ.ศ. 2563 สนับสนุนโครงการ "เดินด้วยกันนำพาสันติ" ระหว่าง 5 ศาสนาหลัก ซึ่งคณะพระธุดงค์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปรึกษาหารือร่วมกันกับศาสนิกชนผู้มีใจรักในสันติภาพ 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกข์ เมื่อดำเนินการสำเร็จ ได้มอบ "ธงสันติภาพ 5 ศาสนา" อันเป็นสัญลักษณ์ความสามัคคีของพี่น้องศาสนิกชนในประเทศ พ.ศ. 2564 เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายพิเศษ เรื่อง "พระพุทธศาสนากับวิชาชีพนักการเมือง" ให้แก่นิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา และได้ถวายทุนการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้วยดีเสมอมา นับได้ว่า นายชวน หลีกภัย เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นอเนกประการ ควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มอบปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาล เป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนสืบไป
|