โพสต์ทูเดย์: ปฏิรูปต้องรับฟัง
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Tuesday, August 01, 2017  02:30
35061 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XINTER XCOMMENT DAS V%PAPERL P%PTD

          เสร็จสิ้นภารกิจไปแล้วสำหรับ 1 ในแม่น้ำ 5 สาย หลังสภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) กับช่วงเวลาที่ อยู่ในตำแหน่ง 1 ปี 9 เดือน หมดวาะสิ้นเดือนนี้ โดยทำพิธีกรรมส่งมอบงานปฏิรูปให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อย
          มีคำถามว่า ภารกิจของ สปท.ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศเข้าเป้าหรือไม่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ได้รายงานในที่ประชุมว่า สปท.ทำรายงานเสนอรัฐบาลทั้งหมด 188 เรื่อง ในจำนวนนี้รัฐบาลรับไปดำเนินการเป็นรูปธรรม 27 เรื่อง ทั้งในขั้นตอนที่กำลังออกเป็นกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรืออยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
          ในจำนวนนี้ อาทิ การจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ การ ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
          แน่นอนในมุมมองของ สปท.ย่อมพอใจในผลงานตัวเอง แต่หลายเรื่องก็ถูกวิจารณ์หนักว่า ไม่ใช่การปฏิรูปที่เดินไปข้างหน้า แต่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อ ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ที่เน้นควบคุมสื่อ โซเชียลมีเดีย จำกัดเสรีภาพเพื่อความมั่นคงชาติ
          เมื่อเทียบข้อเสนอ สปท.ที่มีไปยังรัฐบาลและถูกนำไปปฏิบัติ พบว่า มีเพียง 14.3% เท่านั้นที่รัฐบาลนำผลงาน สปท.ไปใช้ นับว่าน่าผิดหวังเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับ สปท. ก็เป็นเพราะผลงานของ สปท.ไม่เข้าตารัฐบาล ทั้งที่ สปท.เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายของ คสช.ที่ต้องทำงานเป็นทีม และรับลูกจาก คสช.มาปฏิรูป ที่สำคัญทำงานจากภาษีประชาชนที่ใช้เป็นเบี้ยประชุม
          การเกิดขึ้นของ สปท.ถูกวิจารณ์ว่า รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น "หนังหน้าไฟ" ในการปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่หมดวาระไปก่อนที่ สปท.จะมาเพื่อกล่าวอ้างได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปมิใช่รัฐประหารเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งอย่างเดียว
          ความจริงแล้ว ทิศทางการปฏิรูปประเทศในช่วงรัฐประหารอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลเพิ่งมาให้ความสำคัญในช่วงหลังนี้ด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เมื่อเดือน ก.พ. กำหนดธงในการปฏิรูป 27 เรื่อง จาก 134 วาระปฏิรูปประเทศของ สปท. อีกกลไกคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการปรับโครงสร้างการเมืองใหม่ และบังคับให้รัฐบาลต้องปฏิรูปเรื่องสำคัญ เช่น กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ การศึกษา รวมถึง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่เพิ่งประกาศใช้ล่าสุดกำหนดให้ต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อดำเนินการปฏิรูปใน 10 ด้าน
          หลายเรื่องแม้รัฐบาลพยายามเดินหน้านำไปสู่การปฏิรูป หรือจะบังคับอยู่ในกฎหมายที่ยังไม่เห็นรูปธรรมปลายทางเพราะอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่หัวใจการปฏิรูปที่สำคัญ คือ การรับฟังเสียงประชาชน และผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและหลากหลายให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในมาตรา 77 แต่การที่รัฐบาลยังควบคุมการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้การปฏิรูปที่กำลังทำ ยึดความต้องการของผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์